ข้าว พืชอาหารที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน นอกจากเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ “ข้าว” ยังส่งต่อองค์ความรู้ในอีกหลายมิติ ทั้งในด้านประเพณีวัฒนธรรม การกสิกรรม ฯลฯ โดยสืบค้น เรียนรู้ได้จากข้าว …

ประเทศไทยมีภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการปลูกข้าว มีวัฒนธรรมข้าวที่บอกเล่าถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและการเพาะปลูก ทั้งนี้ จากช่วงที่ฤดูกาลกำลังเปลี่ยนผ่าน จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ชวนตามรอยประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว ชวนเรียนรู้วิถีไทย วิถีข้าว โดย ผศ.ดร.รัตนพล ชื่นค้า ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ในประเด็นดังกล่าวว่า ข้าวเป็นพืชอาหารสำคัญ ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยที่บริโภคข้าว หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนก็บริโภคข้าว ทั้งมีประเพณี ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่อง

“ข้าวมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตไทย เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งผสมกลมกลืนกัน แต่ละท้องถิ่น ภูมิภาคมีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวสืบเนื่องมา มีประเพณีหลวง ประเพณีราษฎร์ ดังเช่นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจของเกษตรกร ขณะที่พิธีของราษฎร์ จะปฏิบัติกันในระดับบุคคลหรือชุมชน”

นอกจากในมิติประเพณีวัฒนธรรม ในด้านสำนวนภาษา ข้าวที่ถูกนำมาหยิบยกพูดถึงมีอยู่ไม่น้อย ดังเช่น ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน เช่นเดียวกับ ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือในความหมายตรงกันข้ามกัน ข้าวยากหมากแพง ฯลฯ โดยอาหารหรือพืช เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ บอกเล่าสภาพสังคม

ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ ผศ.ดร.รัตนพล อธิบายอีกว่า ในส่วนพิธีกรรรมที่เกี่ยวกับข้าว ถ้ามองในสังคมอื่น ๆ มีการแสดงความเคารพบูชาข้าวเช่นกัน สำหรับไทยเรามี แม่โพสพ เทวีผู้รักษาข้าว เป็นจิตวิญญาณของข้าว หรือการใช้ดิน เชื่อว่าพระแม่ธรณีจะปกปักดูแล หรือแม้แต่เรื่องของฝนฟ้าอากาศ แต่เดิมที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ ช่วยพยากรณ์ จะมีการขอฝน มีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีความเชื่อของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งมีความหลากหลาย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ไว้อย่างยิ่ง

“ในกลุ่มประเทศอาเซียน จากที่มีการบริโภคข้าว มีเมนูอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบเช่นกัน ข้าวพืชอาหารดังกล่าว จึงเป็นสื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บอกเล่าประเพณี วัฒนธรรม ทั้งเล่าสังคมเกษตรกรรม กสิกรรม รวมถึงคติความเชื่อในเรื่องของข้าวของประเทศอาเซียน โดยมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน”

ทั้งนี้ จากภาพสังคมครั้งอดีตที่ยังพึ่งพาธรรมชาติ แต่เมื่อสังคมพัฒนาก้าวไป มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีเครื่องจักร วิทยาการ ฯลฯ การเพาะปลูก จะเห็นว่าบางประเพณีเริ่มลดเลือนไป ทั้งนี้เมื่อประเพณี พิธีกรรมใด ที่ไม่มีบทบาทต่อบุคคล ชุมชน ก็ย่อมห่างหายไป

แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการรื้อฟื้นประเพณีคืนกลับมา และอาจต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ประเพณีพิธีกรรมเหล่านั้น คงอยู่ด้วยเหตุผลหรือบทบาทใด ที่เชื่อมโยงกับผู้คนในสังคมนั้นได้ ทั้งนี้สำหรับ ประเพณีที่เกี่ยวกับข้าว สามารถจัดแบ่งได้ โดยแบ่งออกเป็น ประเพณีพิธีกรรมเพื่อการบวงสรวงบูชา ก่อนทำการเพาะปลูก อย่างเช่นเดือนหกก่อนเริ่มการทำนา ฯลฯ

ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก ในช่วงเพาะปลูก อย่างประเพณีนาตาแฮก สร้างขวัญกำลังใจเพื่อเริ่มต้นฤดูกาล อีกรูปแบบเป็น ประเพณีที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษา โดยเมื่อเพาะปลูกไปแล้ วก็ต้องบำรุงรักษาให้ต้นข้าวเจริญเติบโต ไม่มีศัตรูพืช แมลงต่าง ๆ รบกวน ก็จะมีประเพณีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การปักเฉลวในแปลงนา มีพิธีรับขวัญแม่โพสพ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยว และสุดท้ายเป็น ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง โดยเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว จะแสดงความขอบคุณ มีประเพณีงานบุญที่เกี่ยวเนื่องอย่างเช่น ประเพณีบุญคูณลาน หรือแม้แต่การใช้แรงงานจากสัตว์จากวัว ควาย ก็จะมีประเพณีสู่ขวัญ โดยที่ไม่ลืมบุญคุณที่ได้ใช้แรงงานจากสัตว์ เป็นต้น โดยจุดหมายของประเพณีพิธีกรรมของการทำการเกษตรส่วนใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพ รู้คุณธรรมชาติ 

วัฒนธรรมข้าว ประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว จึงมีรายละเอียดที่น่าศึกษาผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ ผศ.ดร.รัตนพล อธิบายอีกว่า “วัฒนธรรมข้าวแสดงถึงความอ่อนน้อม อดทนรอคอย อย่างเช่นในอดีต ต้องรอคอยจังหวะเวลา รอน้ำ กว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวที่นำมารับประทานกันจึงมีสายธารในความเป็นมา

จากที่กล่าว บางประเพณีอาจห่างหาย ลดลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การศึกษารวบรวมองค์ความรู้ ยังคงมีความสำคัญ ซึ่งจะส่งต่อไปยังอนาคต เป็นคลังข้อมูลเป็นบันทึกให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษา สืบค้นได้เข้าใจและเข้าถึงประเพณีวัฒนธรรมข้าว”

โดยที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เราได้รวบรวมองค์ความรู้ นำเรื่องราววิถีชีวิตไทยกับวิถีเกษตร การทำไร่ ทำนา ฯลฯ จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ภูมิปัญญาไทยในวัฒนธรรมการเกษตร ฯลฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ อีกทั้งในปัจจุบันทางการท่องเที่ยววิถีข้าววิถีชาวนาก็เป็นที่สนใจ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวข้าว บอกเล่าวัฒนธรรมประเพณีการเกษตรกรรมที่ผ่านมาของไทย 

อีกส่วนหนึ่งนำข้อมูลความรู้ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าว มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เผยแพร่ไว้ ดังเช่น ประเพณีทำขวัญข้าว ประเพณีเดือน 8-9 เป็นประเพณีเซ่นสรวงแม่โพสพของชาวนาไทย

“การทำขวัญข้าวเกิดจากความเชื่อว่า ต้นข้าวมีขวัญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองที่เรียกว่า “แม่ขวัญข้าว” หรือ “แม่โพสพ” จึงทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี หากขวัญข้าวไม่อยู่กับต้นข้าว ข้าวก็จะไม่ออกรวงหรือไม่เจริญงอกงามสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้จะไม่พอเลี้ยงชีพ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติต่อข้าวด้วยความเคารพและมีความกตัญญูรู้คุณข้าว”

ประเพณีทำขวัญข้าว พบในทุกภาคของประเทศ ภาคกลางและภาคใต้จะเรียกว่า ทำขวัญข้าว ภาคเหนือและภาคอีสาน เรียกว่า เรียกขวัญข้าว โดยวิธีการปฏิบัติจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค ชาวนาภาคกลางและภาคใต้ทำขวัญข้าวหลายครั้ง ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีเมล็ดข้าวอยู่ในรวง ตอนเก็บเกี่ยวขนข้าวเข้าลาน และตอนขนข้าวเข้ายุ้ง ส่วนชาวนาภาคเหนือและภาคอีสาน จะทำขวัญในช่วงที่ได้ผลผลิต และเตรียมขนข้าวเข้ายุ้งเท่านั้น ขั้นตอนที่ชาวนาทุกภาคทำพิธีรับขวัญข้าวร่วมกันคือ ตอนที่เก็บเกี่ยวแล้วและเตรียมขนขึ้นยุ้ง

การทำขวัญข้าวตอนขนข้าวเข้ายุ้ง เป็นการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยว เกิดจากความเชื่อที่ว่า เมื่อผ่านกระบวนการนวดข้าว ขวัญของแม่โพสพอาจตกใจหนีหายหรือตกหล่นอยู่ในลาน จึงต้องเชิญขวัญแม่โพสพให้กลับเข้าไปอยู่ในเมล็ดข้าว เพื่อช่วยคุ้มครองดูแลข้าวในยุ้งให้ปลอดภัย ขณะเดียวกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แม่โพสพ ตลอดจนควายที่นำมาใช้งานหนักในช่วงเพาะปลูก

พิธีนี้มีทั้งที่ทำเป็นการเฉพาะครอบครัวและทำเป็นประเพณีของส่วนรวม คือ ทั้งชุมชนไปจัดที่วัด หลังจากขนข้าวเข้ายุ้งเรียบร้อย เป็นการทำขวัญแม่โพสพ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานไปกับพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลทางพุทธศาสนาและอธิษฐานขอพรให้มีข้าวเต็มยุ้งในปีต่อไป เป็นต้น

ขณะที่ประเพณี บุญข้าวสาก (สลากภัต) เป็นประเพณีที่จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ต่อเนื่องจากการทำบุญข้าวประดับดิน มูลเหตุของประเพณีนี้ เพื่อทำให้ข้าวกล้าในนาที่ปักดำไปงอกงาม ได้ผลบริบูรณ์และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับ รวมถึงส่งผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้กลับสู่แดนของตนในเดือน 10 

อีกส่วนหนึ่ง พิธีทำขวัญลานนวดข้าว คนสมัยก่อนเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมี “ขวัญ” เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ก่อนนวดข้าวชาวนามีพิธีทำขวัญ เพื่อบอกกล่าวขอขมา และเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตตลอดปีว่า จะมีข้าวกินตลอดไป พิธีกรรมนี้ทางภาคกลางเรียก ทำขวัญลาน (นวดข้าว) ภาคทางอีสานเรียก บุญคูณลาน การทำขวัญลานนวดข้าว เป็นพิธีทำบุญสู่ขวัญข้าวและเฉลิมฉลองในโอกาสเก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งร่วมบอกเล่าความหมายที่มาประเพณีวัฒนธรรม

บอกเล่าองค์ความรู้การเกษตรกรรม การเพาะปลูกของไทย.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ