“ไม่ได้กังวลมาก…แต่ก็ไม่ได้ประมาทเกินไป!!!” เป็นเสียงจากหนึ่งใน “เหยี่ยวข่าวสีบานเย็น” ของ “ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์” ที่ไปร่วมรายงานข่าวและผลการแข่งขันใน “กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ประเทศกัมพูชา” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค. 2566 นี้ ท่ามกลางกระแส “ดราม่าอื้ออึง” รวมถึง “ความกังวล” มากมาย ทั้งเรื่อง “ความพร้อม” ของเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และ “ความปลอดภัย” ระหว่างการจัดงาน ซึ่งกับ “มุมความรู้สึก” ของเหยี่ยวข่าว-ผู้สื่อข่าวแล้ว พวกเขาคิดอ่านคิดเห็นเช่นไรกับการไปทำหน้าที่รายงานข่าวมหกรรมกีฬาครั้งนี้ที่เต็มไปด้วย “ความอลวนอลเวง”

วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปล้วงลึกเรื่องนี้กัน…

ต้องยอมรับว่า… “กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32” นี้ถูกจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะจาก “แฟนกีฬาชาวไทย” เนื่องจากที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องราว “ดราม่านอกสนาม” ที่ “คุกรุ่นมาตลอด” นับตั้งแต่กรณี “มวยไทย-มวยกุน ขแมร์” ไปถึงเรื่องของ “ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด” รวมถึงเรื่องของ “การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ” จนมีประเด็นร้อนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่อยู่เรื่อย ๆ ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ “ดูจะร้อนแรง” กว่าซีเกมส์ทุก ๆ ครั้ง ทาง “ทีมวิถีชีวิต” จึงไปนั่งจับเข่าคุยกับเหล่า “ผู้สื่อข่าว-ช่างภาพสายกีฬา” ของ “เดลินิวส์” ถึง “ความรู้สึก” ในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในซีเกมส์ครั้งนี้…

วอน อ่อนวงค์

เริ่มจาก “ไม้-วอน อ่อนวงค์” ผู้สื่อข่าวกีฬาเดลินิวส์ ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปรายงานข่าวกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ที่เริ่มจากเผยเส้นทางการเป็น “คนข่าวกีฬา” ของตนเองให้ฟังว่า เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายกีฬาเดลินิวส์มาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีโอกาสได้เดินทางไปทำข่าวในงานมหกรรมกีฬาใหญ่ ๆ มาแล้วหลายครั้ง ทั้งโอลิมปิกเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และซีเกมส์ ซึ่งกับกีฬาซีเกมส์นั้น คนข่าวกีฬาเดลินิวส์รายนี้บอกว่า มีโอกาสไปรายงานข่าวซีเกมส์ครั้งแรกที่ สปป.ลาว ตามมาด้วยซีเกมส์ที่เมียนมา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ตามลำดับ โดยซีเกมส์ที่กัมพูชา เป็นการเดินทางไปรายงานข่าวซีเกมส์ครั้งล่าสุดของเขา และสำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้น คนข่าวกีฬาเดลินิวส์คนเดิม ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ถ้าหากเขาจำไม่ผิด กว่าที่กัมพูชาจะได้จัดซีเกมส์ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในอดีตกัมพูชาก็เคยมีชื่อเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาซีเกมส์ 3 ครั้ง แต่มีปัญหา จึงไม่ได้จัดการแข่งขัน ดังนั้นซีเกมส์ครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา

ส่วนในแง่ “ความรู้สึก” ในการต้องไปรายงานข่าวซีเกมส์ครั้งนี้ ที่ก่อนหน้าการแข่งขันจะเปิดฉากดูเหมือนจะ “มีวิวาทะ-มีกระแสร้อน” ออกมาต่อเนื่อง กับเรื่องนี้ “ไม้” คนข่าวกีฬาค่ายสีบานเย็น กล่าวว่า แม้ก่อนหน้าจะมีการกระทบกระทั่งกันดุเดือดของชาวโซเชียลไทยและกัมพูชา แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกกังวลใจอะไรมากมาย เพียงแต่ก็ไม่ประมาท โดยเขาบอกอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว เดือน ต.ค. 2565 เขามีโอกาสได้ติดตามคณะของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ไปตรวจสนามการแข่งขันกีฬาที่ประเทศกัมพูชามาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นยังไม่เกิดประเด็นกระทบกระทั่งกันบนโลกโซเชียล ทำให้เวลานั้นจากการที่ได้สัมผัสก็พบว่า ผู้คนกัมพูชาก็ดูอัธยาศัยดี และบรรยากาศโดยรวมก็ถือว่าดีพอสมควร ส่วนเรื่องความพร้อมของสนามกีฬาหลักที่ใช้สำหรับพิธีเปิดและพิธีปิดนั้น จากการไปสำรวจครั้งนั้นก็ดูว่าน่าจะมีความพร้อม แต่ตอนนั้นก็พบว่าบางส่วนยังสร้างไม่เสร็จ และจนถึงก่อนที่จะเดินทางไปแม้จะพยายามเช็กข้อมูลกับทางออฟฟิเชียลเพจของกัมพูชาว่า การก่อสร้างคืบหน้าแล้วเสร็จไปแค่ไหนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหาข้อมูลที่อัปเดตได้ และเมื่อสอบถามไปก็มีการยืนยันมาว่าพร้อมแล้ว ซึ่งก็คงต้องไปวัดดวงอีกครั้งเมื่อถึงหน้างาน

วอน กับนักกีฬาต่างประเทศ

“การเตรียมตัว” กับ “ซีเกมส์ที่กัมพูชา” ครั้งนี้ “ไม้” บอกว่า การเตรียมตัวไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะมีประสบการณ์ในการเดินทางไปทำข่าวมหกรรมกีฬาที่ต่างประเทศหลายครั้งแล้ว โดยเขาแค่เตรียมความพร้อมของร่างกาย และเตรียมข้อมูลเบื้องต้นคร่าว ๆ ก่อนไป เช่น วางแผนหาที่พักที่สะดวกและมีความปลอดภัย โดยเมื่อเดินทางไปถึงหน้างานแล้วก็จะเริ่มศึกษาเส้นทางไปสนามแข่งขันต่าง ๆ อีกครั้ง ซึ่งจากการเคยมีโอกาสเดินทางไปตรวจสนามกีฬา ก็พบว่า “ถนนในกัมพูชา” อาจสร้างปัญหาให้การทำงานของสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้ได้

“จากที่เห็น ถนนในกัมพูชานั้นเล็กและแคบมาก อีกทั้งรถราก็เยอะมาก ซึ่งเมื่อมีงานใหญ่อย่างซีเกมส์ ก็คาดว่าการจราจรน่าจะโกลาหลไม่เบา ทำให้ต้องวางแผนจัดตารางในการเดินทางให้ดี” คนข่าวกีฬารายนี้ระบุ

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลก็คือ “กลุ่มผู้ชมชาวกัมพูชา” เนื่องจากกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ทางเจ้าภาพประกาศเปิดให้ประชาชนกัมพูชาเข้าชมฟรีทุกสนาม ทุกประเภทกีฬา ซึ่งอาจทำให้ทุกสนามแข่งขันเนืองแน่นเต็มไปด้วยคลื่นผู้ชมชาวกัมพูชา และอีกเรื่องที่กังวลคือ “ระบบข่าวสาร” เพราะระบบรายงานผลการแข่งขันถือเป็นหัวใจหลักของการแข่งขันกีฬา ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยไปทำข่าวกีฬาซีเกมส์ประเทศเวียดนาม ตอนนั้นเจ้าภาพไม่มีความพร้อมในเรื่องระบบข่าวสาร ทำให้สื่อมวลชนเข้าถึงผลการแข่งขันยากมาก ซึ่งแข่งขันเสร็จไป 4-5 ชั่วโมงผลการแข่งถึงจะอัปเดต หรือบางครั้งข้ามไปอีกวันเลยก็มี แถมผลที่ได้ยังผิดพลาดอีกด้วย นอกจากนี้ “ปัญหาการสื่อสาร” ก็เป็นอีกเรื่องที่รู้สึกกังวลนิด ๆ เพราะในอดีตเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อน

“เรื่องการสื่อสารระหว่างกัน นี่ก็เรื่องใหญ่นะครับ เพราะครั้งหนึ่งผมเคยไปทำข่าวที่ประเทศหนึ่งในอาเซียน ซึ่งนักข่าวที่จะเข้าไปในสนามแข่ง จะต้องเดินเข้าในช่องที่จัดไว้ให้เฉพาะสำหรับสื่อมวลชน ปรากฏเมื่อผมเข้าไป ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นทหาร กลับไม่ให้ผมเข้า เพราะเขาไม่เข้าใจว่าช่องทางนั้นเป็นช่องทางเข้าออกของนักข่าว เรียกว่าอธิบายยังไงก็ไม่ให้เข้าไปอยู่ดี ทีนี้พอเถียงกันไปมา สุดท้ายเขาก็ทำท่ายกปืนขึ้นมาขู่ ทำให้เราก็ต้องยอมถอยไปหาทางเข้าทางอื่นแทน” เป็น “ประสบการณ์สุดระทึก” ของเหยี่ยวข่าวกีฬาสีบานเย็นคนนี้

ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะเดินทางไปยังกัมพูชา “ทีมวิถีชีวิต” ถามย้ำ “ไม้” ถึงประเด็นความกังวล ซึ่งเขาบอกว่า ส่วนตัวคิดว่าคงไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง แต่ก็จะพยายามระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งในระหว่างที่ต้องทำงานรายงานข่าวนั้น จะบอกกับตัวเองเสมอว่า ต้องคอยสังเกตสังกาความผิดปกติรอบตัวอยู่เสมอ และไม่สร้างปัญหาให้กับตัวเอง เช่น หากว่าต้องเข้าไปในสนามแข่งที่เจอกับทีมชาติเจ้าภาพ ก็จะต้องระวังตัวเองให้มากขึ้น หรือบางครั้งก็ไม่ต้องใส่เสื้อทีมไทยเข้าไป และพยายามอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกับนักข่าวไทย เพื่อจะได้ช่วยดูแลกัน …นี่ก็เป็น “คัมภีร์สู้ศึกซีเกมส์” ของคนข่าวกีฬารายนี้ กับกีฬาอาเซียนครั้งนี้

เชาวลิต พุ่มโพธิ์

ด้าน “เชา-เชาวลิต พุ่มโพธิ์” ช่างภาพกีฬาเดลินิวส์ อีกหนึ่งคนที่เดินทางไปร่วมบันทึกภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 เพื่อส่งตรงจากกัมพูชา มาถึงแฟนกีฬาชาวไทยผ่านทางเดลินิวส์ ได้เผยกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า การเดินทางไปถ่ายภาพงานกีฬาในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว เพราะช่างภาพต้องเจออุปสรรคต่าง ๆ นานา แตกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ช่วยทำให้แข็งแกร่ง โดยทุกครั้งที่ต้องไปทำหน้าที่บันทึกภาพในมหกรรมกีฬารายการต่าง ๆ ช่างภาพกีฬาเดลินิวส์รายนี้ย้ำว่า “ต้องยึดหลักความปลอดภัยเสมอ” จะต้องพยายามดูแลและเซฟตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เขายังบอกอีกว่า การทำงานของช่างภาพนั้น แน่นอนว่าจะต้องใกล้ชิดกับกองเชียร์ของเจ้าภาพอยู่แล้ว ซึ่งหน้าที่ของเราคือเก็บบันทึกภาพการแข่งขัน ดังนั้นจึงแค่ทำหน้าที่ของตัวเองไปให้ดีที่สุด และก็ต้องไม่ไปเชียร์ทีมไทยแบบออกนอกหน้า ในกรณีที่ไทยแข่งขันกับชาติเจ้าภาพ รวมถึงต้องคอยเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของกองเชียร์ให้ดี หากมองแล้วเริ่มมีอารมณ์รุนแรง ก็ต้องเตรียมตัวมองหาที่ปลอดภัยเพื่อเอาไว้หลบ

“เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ตอนนั้นไปถ่ายแข่งขันมวยสากลที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งวันนั้นนักชกไทยต่อยชนะเจ้าภาพ เท่านั้นแหละกองเชียร์เจ้าบ้านเริ่มไม่พอใจ โมโห รุมขว้างเหรียญลงมาในเวทีมวย เราก็กำลังถ่ายภาพบนเวทีอยู่ เรียกว่าตอนนั้นวิ่งหลบแทบไม่ทัน” เป็น “เหตุระทึก” ใน “สมรภูมิกีฬา” ที่ “เชา” ช่างภาพกีฬาเดลินิวส์รายนี้เคยประสบ

เชาวลิต กับการทำงานในสนาม

สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันในการไปทำหน้าที่ ช่างภาพ ในต่างแดน เขาบอกว่า ส่วนใหญ่จะเลือกที่พักใกล้สนามแข่งขันหลัก เพราะช่างภาพต้องออกจากที่พักแต่เช้า และกว่าจะได้กลับเข้าที่พักก็มืดค่ำเลย ซึ่งบางครั้งรถก็ไม่มีแล้ว ทำให้มีอยู่บ่อยครั้งที่ต้องแบกสัมภาระและอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีน้ำหนักหลายสิบกิโลกรัมเดินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อกลับที่พัก หรือบางครั้งก็ต้องทะเลาะกับคนขับรถที่จ้องจะฟันหรือโก่งค่าโดยสาร …นี่เป็นเหตุการณ์ยากลำบากที่คนในอาชีพช่างภาพมักต้องเจอ

ขณะที่ใน “กีฬาซีเกมส์ กัมพูชา” ครั้งนี้ “เชา” ช่างภาพกีฬาเดลินิวส์คนเดิมบอกว่า แม้จะมีประเด็นร้อน มีวิวาทะร้อนในโลกโซเชียลคุกรุ่นมาตลอด แต่ในส่วนการทำงานนั้น ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยกังวล เพราะทีมจัดงานต้องเตรียมพร้อมระดับหนึ่ง จึงไม่น่ามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เพราะเจ้าภาพก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ เนื่องจากครั้งนี้เป็น “ซีเกมส์ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ” แต่เรื่องจำนวนกองเชียร์ก็น่าจะสร้างแรงกดดันให้นักกีฬาชาติอื่นไม่น้อยเลย …นี่เป็น “มุมมอง” จากช่างภาพกีฬาเดลินิวส์คนนี้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นเขาบอกว่า ที่ต้องระวังให้มากเลย ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมกีฬารายการใด ๆ ก็คือ ระวังเครื่องมือ-อุปกรณ์-ทรัพย์สิน ที่นำติดตัวไป เพราะในเวลาที่มีคนมากมายมารวมตัวกันแบบนี้ มักจะมี “มิจฉาชีพ” แอบแฝงเข้ามาเพื่อ “ขโมยของ” อยู่ด้วย

’ก็พยายามเซฟตัวเองให้มากที่สุด และต้องไม่พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง“ เป็น “คัมภีร์ปลอดภัย” ที่ “เชา” ช่างภาพกีฬาเดลินิวส์ เน้นย้ำไว้ ซึ่งเขาบอกไว้ด้วยว่า ซีเกมส์ที่กัมพูชา พอแข่งขันจริง ๆ แล้ว จะไม่เกิดหรือจะเกิดกระแสร้อนอะไร ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นก็ต้องยึด “กฎเหล็ก” ที่สื่อมวลชนกีฬาทุกคนยึดถือ คือ ประการแรก หมั่นสังเกตปฏิกิริยากองเชียร์เจ้าบ้าน และอีกประการ หลีกเลี่ยงสวมเสื้อที่บ่งบอกสัญชาติ เพื่อป้องกันปัญหาไม่คาดคิดจาก “อารมณ์กองเชียร์เจ้าภาพ” …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นความรู้สึกและการเตรียมตัวของ “เหยี่ยวข่าวกีฬาเดลินิวส์” ใน “ซีเกมส์ครั้งล่าสุด” ที่…

“มีดราม่าอื้ออึงมากมาย!!”.

‘คัมภีร์รุ่นพี่’ กับ ‘วิธีเอาตัวรอด’

แม้ในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ครั้งนี้จะไม่ได้ไปร่วมกับทีมเหยี่ยวข่าวรุ่นน้อง แต่ “ช่างภาพกีฬารุ่นใหญ่” อย่าง “เอ้-พีระพันธ์ แผนดี” ที่มีประสบการณ์มากมายจากการเดินทางไปรายงานข่าวและบันทึกภาพในมหกรรมกีฬาซีเกมส์มามากกว่า 14 ครั้ง ก็ได้ให้กำลังใจรุ่นน้อง ๆ ที่ต้องเดินทางไปรายงานข่าวกีฬาซีเกมส์หนนี้ พร้อมให้ “เคล็ดลับ-คำแนะนำ” โดย “เอ้” บอกว่า ซีเกมส์ครั้งนี้ตนเองก็รู้สึกได้ถึง “อุปสรรค-ปัญหา” ที่ “ทีมข่าวกีฬาไทย” รวมถึงชาติอื่น ๆ จะต้องประสบพบเจอแน่ โดยเฉพาะการรับมือกับ “อารมณ์กองเชียร์เจ้าภาพ” ที่ “น่าจะรุนแรงพอสมควร” ซึ่งในอดีตที่นั่นก็เคยมีการปั่นกระแสจากเรื่องที่ไม่เป็นความจริง จนกลายเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวที่ไม่มีมูล จนทำให้เกิดเหตุโกลาหลถึงขั้นจลาจลมาแล้ว โดยมี “คนไทยตกเป็นเป้า” ทำให้ส่วนตัวแล้วก็รู้สึกอดเป็นห่วงรุ่นน้อง ๆ ไม่ได้ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ในฐานะที่ผ่านสนามการแข่งขันใหญ่ระดับโลกมาแล้วมากมายหลายประเทศ ส่วนตัวแล้วมองว่า “ไม่ว่าที่ไหนก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่ในกลุ่มคนดีเสมอ” ดังนั้น ไม่ว่าที่ไหนก็ “ต้องยึดหลักระแวดระวังภัย” และ “ต้องมีสติเสมอ” ก็น่าจะช่วยทำให้ “อยู่รอดปลอดภัย” ได้ในทุก ๆ สนามข่าว.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน