หลังผู้เช่ารายหนึ่งซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ย้ายออกไป โดยที่สภาพบ้านสะอาดเอี่ยมอ่อง พร้อมกับมีการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายให้อย่างดี จนชาวโซเชียลเข้าไปคอมเมนต์ชื่นชม และระบุถึงความโชคดีของเจ้าของบ้านเช่ารายนี้ ที่ได้เจอกับผู้เช่าที่ดีเช่นนี้ ซึ่งผิดกับหลาย ๆ กรณีดราม่าที่ครึกโครม ที่เจอกับ “ผู้เช่านิสัยไม่ดี” ซึ่งไม่เพียงแต่ “ไม่ดูแลสภาพ” หากแต่ยัง “ทำเละเทะหมดสภาพ” อีกด้วย โดยกรณีหลังนี้ดูจะมีกระแสอื้ออึงเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ…

กรณี “ผู้เช่าทำบ้านเช่าห้องเช่าเละ” นั้น

ก็มีหลายคน “สงสัยว่าอะไรคือสาเหตุ?”

ที่ “ทำให้เกิดพฤติกรรม” ลักษณะเช่นนี้

ทั้งนี้ สำหรับเรื่องนี้ กับกรณี “ทำเละเทะหมดสภาพ” นั้น ก็มีคำอธิบายใน“มุมจิตวิทยา” และนอกจากนี้ก็ยังมี “มุมกฎหมาย” โดยอาจจะเข้าข่ายมีความผิด ซึ่งกับการมีพฤติกรรม “ไม่ชอบทิ้ง-ชอบทำสกปรก” นั้น กรณีแบบนี้สำหรับในแง่พฤติกรรมในมุมจิตวิทยา ก็ได้มีการอธิบายถึงผู้ที่มี “พฤติกรรมไม่ชอบทิ้งสิ่งของ” มีข้อมูลที่ระบุไว้ว่า… อาจจะเข้าข่ายอาการ “โรคเก็บสะสมของ” โดยมีข้อมูลในเฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้อธิบายอาการดังกล่าวนี้ไว้ว่า…

คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการ เก็บสะสมของในบ้านไว้เยอะจนล้นหรือเละเทะไปหมด ลักษณะดังกล่าวนี้ ในทางจิตวิทยาถือเป็น อาการทางจิตรูปแบบหนึ่ง ที่มีชื่อว่า… “hoarding disorder” ซึ่งเป็นโรคทางจิตที่ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อปี 2556 โดยก่อนหน้านั้นยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยอาการเช่นนี้มาก่อน ซึ่งด้วยเหตุที่เป็นโรคที่เพิ่มเข้ามา…ในภาษาไทยจึงยังไม่มีศัพท์ที่ใช้เรียกเป็นทางการ แต่ก็เรียกว่า “โรคเก็บสะสมของ” ไปพลาง ๆ ก่อน

แหล่งข้อมูลเดิมยังมีการอธิบาย อาการของโรค ที่พบได้บ่อย ๆ ไว้ว่า…มักมีลักษณะดังนี้คือ… ชอบเก็บของไว้จนมากเกินไป แม้ของนั้นดูไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือมีโอกาสได้ใช้น้อยมาก, มีความลำบากในการตัดใจทิ้ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากความคิดที่ว่ายังจำเป็นต้องใช้ หรืออาจจะได้ใช้ ทั้งที่ก็ไม่เคยได้ใช้จริง, ของที่สะสมมีเยอะมากจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือทำให้เกิดอันตราย เช่น วางบนพื้นห้องจนไม่มีที่เดิน วางท่วมล้นโต๊ะทำงานจนทำงานไม่ได้ หรือทำให้เกิดเจ็บป่วยบ่อย ๆ …นี่เป็นอาการผู้ป่วยโรคนี้… “โรคเก็บสะสมของ” โรคชื่อแปลกที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนย้ำว่า “มีอยู่จริง!!”

ส่วน สิ่งสะสมที่พบบ่อย ที่มักพบมากในผู้ที่ป่วยด้วยอาการนี้ ได้แก่… หนังสือ-นิตยสาร, เสื้อผ้า, ถุงพลาสติก, ขวดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจุดที่ต่างจากคนปกติที่อาจสะสมของเหล่านี้เช่นกัน คือ… หากเป็นคนปกติ ผู้ที่เก็บสะสมจะสามารถเก็บวางหรือจัดเก็บได้อย่างเป็นระเบียบ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ป่วยด้วยโรคเก็บสะสมของ กรณีนี้จะแตกต่างอย่างชัดเจน กล่าวคือ…การเก็บของจะเยอะเกินกว่าปกติของคนทั่วไป เช่น เก็บจนล้น กองเต็มทั่วบ้าน เป็นต้น …นี่เป็น “ความแตกต่าง” ระหว่าง “นักสะสม” กับ “ผู้เป็นโรคเก็บสะสม” ที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน …เป็นคำอธิบายอีกโรคทางจิต “โรคเก็บสะสมของ” 

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูกันต่อใน “มุมกฎหมาย” กรณีที่ไม่เกี่ยวกับอาการป่วยด้วยโรคเก็บสะสมของ แต่เกิดจากการที่ “ผู้เช่าชุ่ย-ทำให้เกิดความสกปรกและเสียหาย” กับสถานที่ให้เช่าอาศัย กรณีนี้ในทางกฎหมายถือว่า เข้าข่ายมีความผิด!! โดยทาง รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้เคยอธิบายให้เข้าใจผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ปัญหา ผู้เช่าพักอาศัยทำให้สถานที่สกปรกโสโครก หรือทิ้งขยะไว้เต็มบ้านเช่า-ห้องเช่าพักอาศัย นั้น ถือเป็นปัญหาที่มีผู้ถามกันเข้ามาบ่อยมาก ที่ผ่านมาปัญหาลักษณะนี้มีเกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ

ใน “มุมกฎหมาย” ของเรื่องนี้กรณีนี้… ในการเช่านั้น ผู้เช่าจะต้องดูแลทรัพย์สินในที่พักอาศัยที่เป็นของผู้ให้เช่าให้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากผู้เช่าทำทรัพย์สินผู้ให้เช่าพังเสียหาย ก็จะต้องซ่อมแซมให้ผู้ให้เช่า ถ้าไม่ทำ ทางผู้ให้เช่าก็สามารถที่จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามจริงได้ตามบิลที่จ่ายไป สามารถนำเอกสารค่าใช้จ่ายไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกเก็บจากผู้เช่าได้ และอีกกรณีคือ ผู้เช่านำทรัพย์สินของผู้ให้เช่าไป ซึ่งก็เป็นปัญหาที่พบบ่อยเช่นกัน กับกรณีนี้ ผู้เช่าที่กระทำการในลักษณะดังกล่าวนี้ มีความผิดฐาน “ยักยอกทรัพย์” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

นี่เป็นข้อกฎหมายของเรื่องนี้โดยสังเขป

กรณีที่ “ผู้เช่าสร้างปัญหาให้บ้านที่เช่า!!”

และกรณี “ผู้เช่าทำเลอะเทอะเละเทะ” ทางทนายคนเดิมได้ระบุไว้ว่า… ก่อนอื่นต้องแยกแยะว่าขยะหรือความสกปรกที่เกิดขึ้นมีมากแค่ไหน? ซึ่งการทำความสะอาดเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าอยู่แล้วหลังผู้เช่าคนเก่าย้ายออกไป โดยหาก ผู้เช่าทำสกปรก แต่ทรัพย์สินไม่ได้เสียหาย จะฟ้องร้องไม่ได้ แต่… ถ้าทำสกปรกเกินกว่าสมควร ทำให้ผู้ให้เช่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติ ฟ้องร้องได้ เนื่องจากทางผู้ให้เช่าจำเป็นต้องจ้างหรือต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดความสกปรกที่เกินกว่าสมควร ซึ่งผู้ให้เช่าสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ …ทาง ทนายรณณรงค์ ระบุเพิ่มเติมไว้เกี่ยวกับมุมกฎหมายกรณีนี้

“กรณีชวนอึ้ง” เกี่ยวกับ “บ้านเช่า” เกิดถี่

อึ้งที่ “ไม่ดี” อาจ “โยงโรคจิต?-โยงคดี?”

อาจ “ต้องรักษา!!” อาจ “ต้องชดใช้!!”.