“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี” (ttb analytics) ได้ศึกษาการปรับตัวของภาคธุรกิจในอีก 1-2 ปีข้างหน้า พบว่ายังต้องเจอความท้าทายอยู่มาก แม้โควิด-19 จะบรรเทาลงจากการเร่งฉีดวัคซีนทั้งไทยและทั่วโลก แต่โควิด-19 ยังไม่หมดไปจากโลกและอาจกลายพันธุ์เพิ่มเติม ทำให้ภาคธุรกิจต้องเจอความท้าทาย 3 ด้าน คือ ด้านแรก ธุรกิจยังต้องเจอกับการระบาดโควิด-19 ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่ออยู่ด้วยกันด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินธุรกิจให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อในพนักงานและลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

ด้านที่สอง ธุรกิจต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ แนวโน้มของสิ่งแวดล้อม การเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งโครงสร้างกลุ่มนี้จะส่งผลทำให้ความเจริญกระจายไปหัวเมืองในเศรษฐกิจภูมิภาค การผลิตสินค้าที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสินค้าเพื่อการส่งออกจะมีมูลค่ามากขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมลงทุนภาครัฐ

ด้านที่สาม ธุรกิจต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ปัจจุบันผู้บริโภคใช้ช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจต้องผสมผสานอย่างสมดุล และจะต้องปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่อยู่รอบตัว ทั้งอี-คอมเมิร์ซ, อี-เพย์เมนท์, อี-ทรานสปอร์เทชั่น เป็นต้น เพื่อมาใช้ในธุรกิจในการลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค และความนิยมในสินค้าของผู้บริโภคมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เพราะสามารถสืบค้นข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าจากสื่อออนไลน์ได้

ทั้งนี้ ทำให้ภาครัฐจะต้องรีบเข้าสนับสนุน จำเป็นต้องช่วยเหลือภาคธุรกิจให้กลับมาฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย เพราะการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกันในรูปแบบ K-Shape มีทั้งขาขึ้น และขาลง โดยธุรกิจที่ฟื้นตัวขาขึ้น ได้แก่ ธุรกิจประเภทไอทีและเทเลคอม บริการซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน ร้านค้าปลีกที่มีทั้งช่องทางตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การบริการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า ธุรกิจการแพทย์ และอาหารสำเร็จรูป ส่วนการฟื้นตัวขาลง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สปา ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ การขนส่งผู้โดยสาร ออฟฟิศให้เช่า ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบอีกว่า ธุรกิจที่มีความเปราะบางมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น ซึ่งรายได้เทียบกับปี 62 หดตัวมากกว่า 30% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรมรายได้ลดลง 66% และร้านอาหาร รายได้ลดลง 49%, กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศ รายได้ลดลง 84% และทางน้ำ รายได้ลดลง 51% และกลุ่มบริการส่วนบุคคล ได้แก่ บันเทิงและการกีฬา รายได้ลดลงมากถึง 84%

สำหรับกลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น เช่น ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม อสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุปโภคและบริโภค ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากรายได้ใน 2 ปีที่ผ่านมาลดลง 10-30% ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 นี้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง จึงต้องเน้นทำตลาดออนไลน์และให้ภาครัฐช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ เช่น พักหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้