หลักสูตร KU VIPS รุ่น 1 สัปดาห์ที่สอง (28 เม.ย.66) ได้เชิญ ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการ The TSIS Limited Partnership มาแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ Introduction to Social Innovation & Sustainability : Concept & Tools ประเด็นหลักที่เป็น Keywords ของเรื่องนี้ คือ การสร้าง Innovative CSR  หรือ Cooperate Social Responsibility

ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี

ผู้เขียนและทีมวิชาการขออนุญาตสรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ 8 ประเด็น ดังนี้

1. ดร.ศิญาณี  เริ่มต้นด้วยเรื่องพัฒนาการของ CSR ที่มีมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่สูงลิ่วแลกมาด้วยปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดคำถามต่อการพัฒนาว่า แนวทางที่โลกเรากำลังไปต่อนั้นมันมีขีดจำกัดหรือไม่ ส่งผลต่อการพัฒนาต่อคนรุ่นถัดไปอย่างไร โดย ดร.ศิญาณี กล่าวถึงหนังสือคลาสสิคสองเล่ม คือ

    ♻️The Limited to Growth (1972) งานของ Donella & Dennis Meadow และ

    ♻️รายงานของ UN ที่ชื่อ Our Common Future (1988) หรือที่รู้จักในชื่อของ Brundtland Report (ผู้เขียนขออนุญาตเพิ่มเติมให้ครับ) นอกจากหนังสือทั้งสองเล่มแล้ว ดร.ศิญาณี ยังได้กล่าวถึงสารคดีเรื่อง An Inconvinience Truth ซึ่งมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Al Gore ที่ชี้ให้เห็นปัญหาเรื่อง Global Warmimg ซึ่งในเวลาต่อมาได้เรียกชื่อใหม่ว่าเป็น Climate Change หรือ “ภาวะโลกรวน”

2. คำถามที่น่าสนใจ คือ เราทุกคน ทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่มีส่วนรับผิดชอบกับโลกใบนี้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ ดร.ศิญาณี จึงอธิบายถึงลำดับของการสร้าง CSR ที่เริ่มจาก (1) Social obligation (2) Social Responsiveness และ (3) Social Responsibility ประเด็นที่เรามักถูกทำให้เป็น”มายาคติ” คือ CSR ถูกเหมาว่าเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรหรือหน่วยงาน PR ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืน เป็นเพียง Cosmetic ฉาบฉวย อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ชวนคิดต่อ คือ CSR กลายเป็นอีกหนึ่งองค์ความคิดต้นรากที่เชื่อมโยงกับทั้ง MDG ในปี 2000 และ SDG ในปี 2015

3. SDG ปี 2015 ที่องค์การสหประชาชาติโดยอดีตเลขา UN นายบัน คี มูน นำเสนอนั้น เราจะเห็นได้ว่าทุกเป้าหมายทั้ง 17 Goals มุ่งส่งเสริมให้การพัฒนาเศรษฐกิจ สั่งคม สิ่งแวดล้อม นั้นก้าวไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind: LNOB) ด้วยเหตุนี้ CSR ที่ ดร.ศิญาณี ชี้ให้เห็นจึงกล่าวถึงทุกองคาพยพของผู้คนในสังคม ทั้งรัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งหากพิจารณาจาก SDG แล้ว เป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่ SDG 17 ที่ว่าด้วย Public Private Partnership

4. เครื่องมือที่ ดร.ศิญาณี นำมาช่วยสร้างกรอบความคิด คือ Problem Tree Analysis ที่ช่วยทำให้การวิเคราะห์มีระบบชัดเจน โดยการ Identify Core problem ซึ่งเปรียบเสมือนลำต้นของต้นไม้ หลังจากนั้น คือ การชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ หรือ Effect ซึ่งเปรียบเสมือนใบ และสุดท้าย คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่เปรียบได้ดังราก หรือ Root cause Analysis ด้วยเหตุนี้ การจัดการปัญหาใด ๆ ก็ตาม หากสามารถระบุ Core ได้ชัดเจนแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ เรามีทางเลือกว่า (1) จัดการลดผลกระทบ โดยริดใบของต้นไม้ หรือ (2) จัดการรากเหง้า ที่อาจเริ่มขุดรากฝอย

5. จุดที่น่าสนใจอีกประการ คือ การทำ CSR ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วย Problem Tree สามารถนำไปสู่การสร้าง Innovation ซึ่ง ดร.ศิญาณี ชี้ให้เห็นว่า Innovation คือ สิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง (อ้างอิงจาก Tom Gorman) และ Innovative Creation สามารถสร้างคุณค่าผ่านสินค้าและบริการใหม่ ๆ ผ่าน โมเดลธุรกิจใหม่ กระบวนการใหม่ และวิธีการใหม่ ที่เน้นไปที่เรื่องสร้างสรรค์และยั่งยืน (งานของ Tony Wagner)

6. ตัวอย่างที่ ดร.ศิญาณี นำมาเป็น Case Studies มีทั้ง Best และ  Worst Practice โดยตัวอย่าง Best Practices เช่น Ikea ที่มีโครงการบริจาคเงินเพื่อซื้อหลอดไฟให้ผู้ลี้ภัย ตัวอย่าง Xerox ที่ทีโครงการ You Print one, we will plant one ที่ช่วยปลูกป่าทดแทน ตัวอย่าง Starbuck ที่ผุดโครงการ C.A.F.E หรือ Coffee & Famer Equity เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นการริเริ่ม สร้างสรรค์ และพยายามตอบโจทย์ Core problem ที่แต่ละธุรกิจมองเห็น

7. ตัวอย่างที่กลายเป็น Worst practice ที่เกิดจากการละเลย ไม่ใส่ใจเรื่อง CSR ทำให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึงต่อแบรนด์ตัวเอง  ทั้งหมดนี้เกิดจากการขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า CSR เนื้อแท้แล้วมีอะไร การหาสาเหตุของปัญหายังไม่เจอ การขาดความเข้าใจที่ดีในเรื่องบริบทภายในท้องถิ่น โดยเฉพาะ Mindset ที่ต้องเข้าใจว่า CSR เป็นเรื่องของ Emphathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจมากกว่า Symphathy หรือสงสาร เป็นต้น

8. กล่าวโดยสรุปแล้ว เนื้อหา Innovative CSR ทำให้เราเริ่มเชื่อมโยงแล้วว่า VIPS ซึ่งเป็นชื่อหลักสูตรนี้ มุ่งเน้นการสร้าง Value Creation ให้เกิดขึ้นกับ Product หรือ Service ของเราไม่ว่าเป็นภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ทำนองเดียวกันสามารถต่อยอดไปสู่ Innovation for Professional Sustainability ซึ่งสอดคล้องกับยุคหลัง Post pandemic ที่มีความท้าทายหลายเรื่องที่รอเราอยู่

—————————-

 Dr. Sutthi Suntharanurak และทีมวิชาการ KU VIPS รุ่น 1