ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานยอดฮิตคุ้นหูในแวดวงมิจฉาชีพ แต่หากจะให้เห็นภาพมากขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เรียกหารือพร้อมแจกแจง “สถิติ” ที่ยังน่าตกใจ เพราะชื่อหน่วยงานเหล่านี้ และจำนวนผู้เสียหายเป็นเพียงส่วนที่มีผู้มาแจ้งความออนไลน์ในระบบเท่านั้น

สำหรับสถิติหลอกลวงในระบบรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด จำนวน 244,567 เคส มีรูปแบบคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานของรัฐ จำนวน 20,937 เคส มูลค่าความเสียหาย 3,328,454,052.35 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.56 ของรูปแบบการหลอกลวงทั้งหมด (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 22 เม.ย.66)

ในจำนวน 20,937 เคส แยกจำนวนร้องเรียนตามหน่วยงานรัฐได้ ดังนี้

1.หน่วยงานราชการ จำนวน 13,402 เคส

2.กรมสรรพากร จำนวน 3,024 เคส

3.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำนวน 1,384 เคส

4.สถานีตำรวจ จำนวน 1,303 เคส

5.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 590 เคส

6.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จำนวน 533 เคส

7.กรมศุลกากร จำนวน 218 เคส

8.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 149 เคส

9.กรมที่ดิน จำนวน 147 เคส

10.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย/ส่วนภูมิภาค จำนวน 113 เคส

11.การประปานครหลวง/ส่วนภูมิภาค จำนวน 51 เคส

12.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 16 เคส

13.กรมการค้าภายใน จำนวน 4 เคส

14.กรมการจัดหางาน จำนวน 3 เคส

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน หนึ่งในหน่วยงานที่ถูกอ้างชื่อ ยกตัวอย่างลักษณะการหลอกลวงที่หน่วยงานพบคือการโทรศัพท์ไปอ้างเรื่องเบี้ยปรับเงินที่เดินเพิ่ม และหลอกให้ปรับปรุงข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน โดยสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมา หากหลงเชื่อกดลิงก์ มิจจาชีพจะใช้สปายแวร์เพื่อเก็บรหัสผ่านนำไปใช้ดูดเงินของผู้เสียหาย 

เบื้องต้นรับแจ้งว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา กรมที่ดินถูกอ้างชื่อไปเรียกเก็บภาษีที่ดิน โดยร้องเรียนผ่านสายด่วน 0-2141-5555 กว่า 800 สาย ติดต่อสอบถามด้วยตนเอง 15 ราย ผ่านแอปพลิเคชัน 2 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียหายถูกหลอกโอนเงิน 5 ราย มากสุดคือ 1 ล้านบาท

ขณะที่ น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม กสทช. แนะวิธีสกัดกั้นคอลเซ็นเตอร์ในกรณีที่ประชาชนไม่มีธุระติดต่อกับต่างประเทศ สามารถป้องกันสายคอลเซ็นเตอร์ได้ด้วยการกด *138*1# แล้วกดโทรออก เพื่อเป็นการปิดกั้นสายเรียกเข้าจากต่างประเทศได้ทุกกรณี

ปัจจุบันแต่ละวันมีคดีแจ้งความหลอกลวงเฉลี่ย 700-800 เรื่อง เฉพาะรอบสัปดาห์ที่ผ่านมารับแจ้งคดีการหลอกลวง 14 คดีหลัก จำนวน 4,101 เรื่องรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 349 ล้านบาท 

ในส่วนหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างบ้างปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ยกตัวอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมาตรการให้ธนาคาร “ไม่” ส่งลิงก์ทางข้อความสั้น (SMS) ป้องกันประชาชนสับสนว่าเป็นธนาคารจริงหรือไม่ พบว่าหลายธนาคารให้ความร่วมมือ ทำให้บางคนรู้แล้วว่าถ้ามีลิงก์จากธนาคารส่งมาถือว่าหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบการเข้าหาเหยื่อที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการหลอกลวงเช่นนี้ยังอยู่ที่ “อย่ารีบหลงเชื่อทำตาม” แต่ควรเป็นผู้ติดต่อกลับไป เพื่อให้มั่นใจว่ามีเรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]