ดังนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคการเงินการธนาคาร ก็เหมือนกับภาคอื่น ๆ คือเริ่มจากนำกำไรบางส่วนไปบริจาคเพื่อสาธารณกุศล และต่อมาก็มีการระดมพนักงานไปทำงานจิตอาสาในชุมชน แล้วก็ค้นพบว่า การนำนายธนาคารไปปลูกป่านั้น ถึงแม้จะสนุกดี มีประโยชน์ แต่ก็ห่างไกลความสามารถหลักขององค์กรมาก ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นการสอนให้ชาวบ้านรู้จักออมเงิน และมีความรู้มากพอที่จะจัดการการเงินในครัวเรือนและชุมชน (Financial Literacy) พร้อมตั้งกองทุนส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบวิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise) จนขยายผลเกิดเป็นโครงการต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าและมีการเชื่อมโยงกับความยั่งยืน นั่นคือ การดูแลการจัดการเงินกู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Lending) เพราะการให้เงินกู้กับธุรกิจสีเทา ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง ย่อมสร้างปัญหาสังคมระยะยาว ดังนั้น ถ้าธนาคารสนับสนุนองค์กรที่มี ESG ที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมดี ก็จะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากขึ้น และควรส่งเสริมให้ธุรกิจเหล่านี้ เกิดต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าตลาด เพื่อเป็นแรงจูงใจและทำให้ธุรกิจสีเทา หรือธุรกิจที่ไม่มี ESG มีต้นทุนที่สูงกว่า หรือมีระบบการกู้ยืมที่ยุ่งยาก หรือมีข้อบังคับเคร่งครัดกว่า จนแทบจะทำไม่ได้ 

อนึ่ง สำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่ดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินไทยตระหนักถึงความสำคัญและเร่งด่วนในการดำเนินธุรกิจตามหลักการ “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดยสนับสนุนการผนวกปัจจัย ESG เข้าไปในการดำเนินธุรกิจ และผลักดันให้ฝังเป็นวัฒนธรรม หรือค่านิยมของสถาบันการเงินไทย โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยถึงทิศทางเรื่องนี้ไว้ ในงานผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อ Meet the Press เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมาถึง “ความยั่งยืนระบบการเงิน-การคลัง” ไว้ โดย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้มีการระบุว่า เมื่อกล่าวถึงภาพการเงินการคลังที่ยั่งยืนของประเทศไทยนั้น ยังคงมีความท้าทายท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาต้องเจอผลกระทบตั้งแต่เรื่องโควิด จนมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งยังมีเรื่องดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นเร็วและแรง รวมถึงเงินเฟ้อ จนกระทบไทยทั้งราคาพลังงานและอาหาร โดย ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความท้าทายนี้ว่า ในส่วนของนโยบายในประเทศไทยจะต้องจับตามองสิ่งที่จะกระทบนโยบายและเสถียรภาพที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ โดยการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนให้ไปอยู่ในโลกใหม่ให้ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าจะเกิดขึ้นแค่ระยะสั้น เหมือนในอดีต และจะต้องผลักดันให้เกิดนโยบายระยะยาวอย่างยั่งยืน

ส่วนเรื่องของ “ระบบการเงิน-การคลัง” ที่จะขับเคลื่อนไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ปัจจุบัน ธปท.ร่วมกับหน่วยงานภาคการเงินกับภาคธุรกิจ จัดทำ “Thailand Taxonomy” เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกัน และจัดกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้เข้าไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งจะเริ่มขึ้นเร็ววันนี้ ด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เพราะเป็นภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อนขยายสู่ภาคธุรกิจอื่นต่อไป นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ยังฝากเป็นข้อคิดไปถึงพรรคการเมืองต่างๆ ในเรื่องนโยบายประชานิยม และระบบการเงินการคลังของรัฐว่า นโยบายประชานิยมที่มีการพูดถึงมานานนั้น มักเป็นนโยบายระยะสั้น และเป็นแบบเหวี่ยงแห ซึ่งควรทำแบบเฉพาะเจาะจง และใช้งบประมาณแบบยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเติบโตระยะยาว เช่น สวัสดิการต่างๆ ควรทำแบบพุ่งเป้า เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรลงไปช่วยเหลือคนจนคนรายได้น้อยจริงๆ และควรมองเรื่องเสถียรภาพเป็นสำคัญ ทั้งเสถียรภาพราคาคือเงินเฟ้อ เสถียรภาพต่างประเทศ เสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ควรติดตามการคลังอย่างใกล้ชิด ที่ต้องให้มีเสถียรภาพทั้งภาระการคลัง หนี้ต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณ เนื่องจากปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ในระดับที่สูง คือ 8.75% ซึ่งควรจะต้องไม่ให้เกิน 10% เนื่องจาก      ถ้าเกินไปกว่านี้ อาจมีความเสี่ยง และทำให้เครดิตเรตติ้งลดลงได้ รวมถึงทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังไทยในอนาคต และนี่เป็นคำให้สัมภาษณ์จากทาง “ผู้ว่าการ ธปท.-ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ที่ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วน รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ นั้นต้องให้ความสำคัญ “ความยั่งยืนระบบการเงิน-การคลัง” ประเทศไทย.