หนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ต้องปรับตัว รับโอกาสที่กำลังจะมาถึง คืออุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืน ตามการเปลี่ยนแปลงของทั้งมาตรการทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคสายกรีนที่ยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 37.6%​ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผู้บริโภคสายกรีน เช่น กลุ่ม มังสวิรัติ มีแนวโน้มเติบโต อีกทั้งยังมีกลุ่ม Flexitarian คือ กลุ่มที่พยายามลดบริโภคเนื้อสัตว์ มีสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มแรก งานวิจัยพบว่า มีสัดส่วนของผู้บริโภค 29% ของผู้บริโภคทั้งหมด

ประเด็นนี้ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า เป็นโอกาสของอาหารอนาคตไทยที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก นอกจากจะดีต่อโลกแล้ว ยังดีต่อสุขภาพและจิตใจด้วย โดยหนึ่งในสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคสายกรีน คือกลุ่มโปรตีนทางเลือก ซึ่งผลิตได้ทั้งจากพืช สาหร่าย เห็ด และการหมักจากจุลินทรีย์

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มสินค้าแมลงที่ดีต่อโลก ใช้ทรัพยากรน้อย มีโภชนาการและโปรตีนที่สูง โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ แนะว่า “แมลง” เป็นแหล่งอาหารทางเลือกใหม่ของโลก ล้วนเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพมากเนื่องจากไทย เป็นประเทศอุดมสมบูรณ์มีวัตถุดิบที่หลากหลาย ประกอบกับความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงด้านการผลิตอาหารของไทย ทำให้สามารถนำมาต่อยอดและผลิตเป็นสินค้าอาหารอนาคตที่ทั่วโลกต้องการ

อาหารอนาคตไทย หรือ Future Food จะมุ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ โดยหลายหน่วยงานของภาครัฐมีแผนการสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตตามแผนเศรษฐกิจบีซีจี โมเดล ปัจจุบันประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตที่หลากหลายทยอยออกสู่ตลาด ซึ่งวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ศักยภาพการส่งออกของอาหารอนาคตไทย การส่งออกอาหารอนาคตไทยปี 65 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้า Future Food ราว 1.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 64 โดยคิดเป็นสัดส่วน 10% ของอาหารทั้งหมด และตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือน ม.ค. ปี 66 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้า Future Food ประมาณ 8,500 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 และอาหารอนาคตมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 9% ของอาหารทั้งหมด โดยตลาดหลักของอาหารอนาคตไทยคือตลาดอาเซียน ซึ่งมีการส่งออกที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง รองลงมาได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดสหภาพยุโรป ตลาดประเทศจีน ตลาดประเทศออสเตรเลีย และตลาดประเทศญี่ปุ่น โดยแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตยังมีแนวโน้มเติบโตดีจากกระแสตอบรับของเทรนด์โลก

อุตสาหกรรมอาหารอนาคต มีแนวคิดและแนวปฏิบัติตามแผนเศรษฐกิจบีซีจี โมเดล ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ต้นนํ้าไปยังปลายนํ้า โดยต้นนํ้า กลุ่มภาคเกษตรที่สำคัญของไทย สามารถยกระดับวิธีการทำเกษตรแบบเดิมสู่การทำเกษตรแบบแม่นยำ เกษตรสมัยใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีองค์ความรู้มาช่วยเสริมในการผลิตเพื่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า และใช้ได้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เช่นแนวทางง่ายๆ อย่างการนำใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยหมักหมุนเวียนใช้ในไร่

ส่วนภาคกลางนํ้า อุตสาหกรรม การผลิต มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทันสมัยและคงไว้ซึ่งคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และในส่วนปลายนํ้า การกระจายสินค้า การตลาด การจัดการการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสูญเสีย และเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด และในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย มีการออก “ฉลากกรีน” ซึ่งเป็นฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมไปยังภาคการผลิต การตลาด และประชาชนผู้บริโภค.