ข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ทำเกินเลยกว่าอำนาจ จนกลายเป็นความผิดพลาด พลั้งมือทำร้ายผู้ต้องหาจนบาดเจ็บและเสียชีวิต กำลังได้รับความสนใจจากคนไทยทั้งประเทศ หลายฝ่ายจับตามองว่า เจ้าหน้าที่จะให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป เพราะถ้าดูตามสตอรี่แล้ว คงไม่ต่างอะไรกับหนังยาวเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว และเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยในตอนนี้ “ดูอะไรดี” จึงขอรีวิวซีรีส์เกาหลีเรื่อง “D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ” ที่พล็อตเรื่องคล้ายคลึงกับคดีดังในเมืองไทยหลาย ๆ คดีซะด้วย ดูได้ทาง Netflix…
“D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ” เล่าถึงประเด็นที่ผู้ชายสัญชาติเกาหลีทุกคนต้องเข้ารับราชการทหาร ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีทหารเข้ามาประจำกรมกองต่าง ๆ ในเกาหลีอย่างต่อเนื่อง บางคนมีอาชีพเป็นหลักแหล่งทำงานทำเงินได้มาก บางคนกำลังเป็นข้าราชการธรรมดา ซึ่งทั้งหมดจะต้องเข้ามาเป็นทหารด้วยกันทั้งสิ้น แต่เพราะความจำเป็นบางอย่างที่ทำให้เหล่าทหารในกรมกอง ต่างต้องหลบหนีจากการเข้าประจำการ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การหนีทหารล้วนมีความผิด ต้องถูกลงโทษทางวินัยและอาญาทั้งสิ้น ยิ่งมีทหารหนีจากกรมกองออกไปมากเท่าไหร่ ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพก็จะลดน้อยถอยลงไปมากเท่านั้น พร้อมกับคำถามที่ว่า ทำไมถึงต้องหนีออกมา? ทำไมถึงออกมาได้? ด้วยเหตุนี้ หน่วย D.P. จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อติดตามหาตัวทหารที่หลบหนีเหล่านี้ ให้มารับโทษและกลับเข้ามาประจำกรมกองให้จงได้
ตัวเอกของเรื่อง “อันจุนโฮ” (รับบทโดย จองแฮอิน) เด็กหนุ่มที่ฉลาดมีไหวพริบเฉียบแหลม เข้ามาประจำการไม่นานก็ถูกดึงมาอยู่หน่วย D.P. (Deserter Persuit) หรือ สารวัตรทหาร ร่วมกับรุ่นพี่อย่าง “ฮันโฮยอล” (รับบทโดย คูคโยฮวาน) ซึ่งทั้งสองตัวละครมีบุคลิกที่ต่างกันราวฟ้าดิน แต่เคมีดันเข้ากันได้แบบประหลาด ๆ สำหรับหน่วย D.P. ไม่ต้องใส่ชุดลายพรางทหารให้เป็นจุดเด่น แถมยังไว้ผมยาวได้ด้วย (คล้ายกับตำรวจนอกเครื่องแบบ) การติดตามไล่ล่าทหารที่หนีทัพจะเริ่มจากสืบดูประวัติของผู้ที่หลบหนี ก่อนแกะรอยไปยังปมปัญหาที่เขาต้องหนีออกมา ไม่ว่าเหตุผลจะดีหรือร้าย ทั้งสองหนุ่มมักจะยื่นมือเข้าไปช่วยมากกว่าเข้าไปขัดขวาง ทำให้พล็อตหนังเรื่องนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การไล่ล่า-สืบสวนเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนความลำบากของประชาชนเกาหลีที่ต้องไปเป็นทหารอีกด้วย
จุดเด่นของ “D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ” ก่อนอื่นต้องชื่นชม ผู้กำกับ “ฮันจุนฮี” และ “คิมโทบง” ผู้เขียนเว็บตูนเรื่องนี้ ที่กล้าตีแผ่ปัญหาในกองทัพและนอกกองทัพแบบตรงประเด็นสุด ๆ เสมือนเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดเป็นสิ่งที่ผิด! เพราะถ้าหากเอาคนไม่พร้อมมาเป็นทหาร ด้วยการบังคับด้วยข้อกฎหมาย ก็รังแต่จะทำให้กองทัพเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น บางคนกำลังมีปัญหาครอบครัว ต้องเลี้ยงดูบุพการีที่เจ็บป่วย ไม่มีใครให้พึ่งพา หรือบางคนครอบครัวกำลังมีปัญหา เพราะขาดเสาหลัก ขณะที่กองทัพมักจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เดี๋ยวพ่อแม่ตาย บ้านโดนยึด พวกทหารเหล่านี้ก็จะกลับมาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดเป็นอย่างมาก ภายหลังทางเกาหลีจึงได้ลดเวลาการเป็นทหารจาก 24 เดือนเหลือเพียง 18 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังกล้าสะท้อนถึงปัญหาการกดขี่ข่มเหงในกองทัพ ตั้งแต่กลุ่มทหารรุ่นพี่ที่กลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงขั้นละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง ส่วนทหารที่มียศใหญ่กว่า หรือ ผู้บังคับบัญชา กลับไม่สนใจว่าทหารชั้นผู้น้อยจะเป็นอย่างไร จนสุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรม SOTUS สืบทอดการทำร้ายกันในค่ายแบบไม่ปราณี บางคนต้องพิการ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม แน่นอนว่าปัญหาเส้นสายยังคงเป็นปัญหาโลกแตก ระบบอุปถัมป์ที่แก้ไม่ได้ แต่ทางซีรีส์เรื่องนี้ได้สรุปความวิบัติเอาไว้ในตอนท้ายแล้ว
พร้อมกับคำถามที่ว่า “…หากกองทัพประเทศใดก็ตาม เอาแต่ผลิตทหารที่มาจากการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ลุแก่อำนาจหรือบ้าอำนาจ ก็ไม่ต่างอะไรกับกำลังผลิต ฆาตกรโรคจิต อาชญากร ที่มีแต่จะทำลายชาติบ้านเมืองไปเรื่อย ๆ ใช่หรือไม่…”
ภาณุพงศ์ ส่องสว่าง