เมื่อ 3 วันก่อน เห็นผู้ประกาศข่าวทีวีอ่านข่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น! เกี่ยวกับขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ขนทุเรียน 25 ตู้คอนเทเนอร์ จากสถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ปลายทางเมืองกว่างโจว ประเทศจีน

ขบวนรถไฟขนทุเรียนออกจากมาบตาพุด 10 โมงเช้าวันที่ 19 เม.ย.66 ถึงปลายทางวันที่ 24 เม.ย. 66 ตามเส้นทางมาบตาพุด-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-ขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) โดยช่วงนี้เป็นขบวนรถไฟธรรมดา ๆ วิ่งบนรางกว้าง 1 เมตร เมื่อถึงเวียงจันทน์จึงต้องยกทุเรียน 25 ตู้ เปลี่ยนไปขึ้นขบวนรถไฟความเร็วสูงสายลาว-จีน ซึ่งเป็นรางมาตรฐานสากล กว้าง 1.435 เมตร วิ่งจากเวียงจันทน์-หลวงพระบาง-บ่อเต็น-คุนหมิง-กว่างโจว

ขนาดเสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถ รวมทั้งขั้นตอนทางศุลกากร และด่านกักกันพืช ทั้งในลาว-จีน แต่ใช้เวลาอย่างช้าไม่เกิน 5 วัน ถือว่าสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และค่าใช้จ่ายถูกกว่าการขนทุเรียนไปทางรถบรรทุกและทางเรือ

พยัคฆ์น้อย” เห็นข่าวนี้แล้วนึกถึงโครงการ 2.2 ล้านล้านบาท สมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สาย คือ สายเหนือไปเชื่อมจีนตอนใต้ สายอีสานเชื่อมลาว สายตะวันออก และสายใต้ เฟสแรกจะไปแค่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำอีกมากมาย

จาก 2.2 ล้านล้านบาท ที่กลัวว่าจะเป็นหนี้กันชั่วลูกชั่วหลานในวันนั้น ถ้าคิดทำกันวันนี้ยังไม่รู้ว่า 4 ล้านล้านบาท จะพอหรือเปล่า?

ตอนนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูง ถูกหัวเราะเยาะถากถางกันต่าง ๆ นานา เช่น พลพรรคประชาธิปัตย์แซวกันอย่างขำขันว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงไว้ขนผักผลไม้ หรือ? บางคนอยากให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อนจึงค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง

ล่วงเลยมาถึงปี 66 จะตื่นเต้นอะไรกัน? กับขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์ขนทุเรียนไปจีนจำนวน 25 ตู้ ซึ่งต้องไปเปลี่ยนขบวนรถไฟจากราง 1 เมตร เป็นรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่เวียงจันทน์

ปี 55-56 รัฐบาลขณะนั้นคิดอะไรที่จะทำรถไฟความเร็วสูง? เขาคิดเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์” ของประเทศซึ่งไทยคือศูนย์กลางระหว่างจีน-มาเลเซีย-สิงคโปร์ ถ้ามีรถไฟความเร็วสูงจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะบริเวณรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงตามหัวเมืองต่างจังหวัด จะมีการพัฒนาที่ดินเกิดขึ้นมากมาย

แต่เราไม่เอา “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่สามารถเชื่อมจีนมาเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะจะนอนรอให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน ส่วนสมาชิกพรรคเก่าแก่ก็มองเป็นเรื่องตลกขบขัน ถ้าจะใช้รถไฟความเร็วสูงขนผักผลไม้

จากปี 55-56 โครงการ 2.2 ล้านล้านบาทจนถึงบัดนี้ คนไทยจึงเสียเวลาและเสียโอกาสไป 8-9 ปี โดยรถไฟความเร็วสูงสายแรก (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แพงขึ้นอีกหลายหมื่นล้านบาท แถมก่อสร้างล่าช้ามาก! ปักหมุดวางศิลาฤกษ์ไปตั้งแต่ปลายปี 60 ตอนนี้แล้วเสร็จยังไม่ถึง 10 กิโลเมตร

แต่ “กัปตันไฮแจ็ค” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ยังกล้าขอเวลาขับเครื่องบินต่อไปอีก 2 ปี เพื่อพลิกโฉมประเทศ…เอากับแกสิ!

—————-
พยัคฆ์น้อย