ยังไม่ผ่านพ้นเดือนเมษายน บรรยากาศทั่วประเทศ อุณหภูมิความร้อนระอุกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้าไม่พอ ยังต้องมาเจอ ’ค่าไฟฟ้าแพงทั้งแผ่นดิน“ กันอีก เพราะแค่ค่าไฟฟ้าเดือนมี..ที่ผ่านมา ยังพุ่งกระฉูดไปทุกบ้านแล้ว กว่าจะหมดเดือนเม.. ก็ไม่รู้ค่าไฟฟ้าแต่ละบ้าน จะพุ่งทะยานไปมากขนาดไหน?

การหาเสียงเลือกตั้งหรือการไปขึ้นเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ ปัญหา “ค่าไฟฟ้าแพง” จึงถูกนำพูดถึงกันทุกเวที!! โดยเฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น และระยะยาว แต่ละพรรคเลยได้หาเสียงจากเรื่องนี้ไปในตัว แต่ก็มีบางพรรคถือโอกาสไปงัดข้อมูลเก่าในอดีตของบางรัฐบาลขึ้นมาเล่นงานโจมตีนโยบายพลังงาน อ้างว่าเป็นต้นตอส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ชาวบ้านก็เลยงงเป็นไก่ตาแตก แทนที่จะพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าก็ยังไม่วายไปโยนความผิดให้คนอื่น

เรียกว่าก่อนถึง วันเลือกตั้งอาทิตย์ 14 .. 66 ยังคงมีอะไรให้เห็นอีกเยอะแทบทุกภูมิภาคไล่ตั้งแต่ เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ บรรดา แกนนำทุกพรรคการเมือง ตระเวนเดินสายออกไปหาเสียงอย่างมีสีสันคึกคักขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ยังมี สารพัดโพล ก่อนเลือกตั้ง ทั้งของสื่อหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ โทรทัศน์ ไปจนถึงของสถาบันการศึกษา และสำนักโพลหลายแห่ง ต่างออกสำรวจข้อมูลอย่างเข้มข้นเช่นกัน พร้อมมีคณะทีมงานและอาจารย์มหาวิทยาลัย หลากหลายสถาบันมาร่วมวิเคราะห์ ผลโหวตจากโพลช่วงหาเสียงเลือกตั้งช่วงแรก ๆ ตรงกับเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พอจะเห็นหน้าคร่าตาของบรรดา “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ใครที่มีคะแนนนำ หรือ “พรรคการเมือง” ไหนที่ประชาชนจะไปเลือกมากสุด

ผลคะแนนที่ออกมาของหลายๆโพลน่าสนใจ ที่สำคัญค่อนข้างใกล้เคียงกัน แคนดิเดตนายกฯกลุ่มลำดับต้น ๆ คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้าง ส่วนพรรคคะแนนนำ อันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ตามด้วย ก้าวไกล, รวมไทยสร้างชาติ และ ภูมิใจไทย

ถ้ามองดูภาพรวม ๆ ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง พอจะเห็นการขับเคี่ยวกันอยู่บนกระดานเกมการเมืองไทย ระหว่าง พรรคการเมืองฝ่ายค้าน สู้ศึกกับ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์และสารพัดนโยบายออกมาหาเสียงกับประชาชน โค้งแรกกระแสของพรรคจากฝ่ายค้าน เพื่อไทย-ก้าวไกล ต่างมีคะแนนนำอันดับ 1-2 ในทุกโพล ไปหาเสียงที่ไหนก็มีประชาชนมาฟังปราศรัยอย่างเนืองแน่น ผิดกับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล คะแนนเป็นรองเกือบทุกโพล

การวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า ผลเลือกตั้งคงจะคล้าย ๆ ปี 2562 ถึงแม้พรรคเพื่อไทยฝ่าด่านเข้าเส้นชัย แต่จะต้องไปแก้เกม กับดักชิ้นโต คือ “250 ส.ว.” มรดกบาป คสช. ที่ตุน 250 เสียงเอาไว้ให้อีกฝ่ายเรียบร้อย ดังนั้นการจะแก้เกมหักด่าน 250 เสียง หรือจะเล่นงาน ปราบปรสิต ตามที่สื่อตั้งฉายาไว้ให้นั้น พรรคเพื่อไทย ต้องลุยตามแผน ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ ที่ตั้งไว้ “310 เสียง” ชนิดม้วนเดียวจบให้ได้ แล้วค่อยดึงพรรคจากฝ่ายค้านด้วยกัน อีกแค่ 66 เสียงเท่านั้น ก็ได้เกินครึ่ง 376 เสียง เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากจำนวน 750 เสียงในรัฐสภา (ส.ส.500 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง)

แม้ผลโพลช่วงแรกจะออกมาตรงกันว่า “แลนด์สไลด์เป็นไปได้ยาก” แต่ถ้าย้อนกลับไปอดีต 18 ปีก่อน ผลการเลือกตั้ง 6 ก.พ. 48 สมัยพรรคไทยรักไทย เคยสร้างประวัติศาสตร์คว้าชัยการเลือกตั้งได้ส.ส.ทุบสถิติ “377 คน” มาแล้ว นับถอยหลังเหลืออีกประมาณ 20 วันก่อนเลือกตั้ง แต่ละพรรคยังพอมีเวลาลุยหาเสียง ปรับกลยุทธ์ได้อีก อยู่ที่จะไปทำความเข้าใจชาวบ้านเพื่อพากันออกมาลงคะแนน ให้พรรคตัวเองได้นั้น เป็นอีกเรื่องสำคัญยังต้องสู้กันไปจนถึงโค้งสุดท้าย!!

—————————–
เชิงผา