อินโดนีเซีย หรือ บากัมลา (Bakamla) และนายคิม ซัง-ยอง เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอินโดนีเซีย ร่วมเป็นประธานในพิธี ผ่านระบบจอภาพทางไกล

บทความของ Sebastian Strangio บรรณาธิการข่าวเอเชีย-แปซิฟิก ของนิตยสาร The Diplomat บอกว่า เป้าหมายหลักของการเปิดศูนย์ฝึกแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพของอินโดนีเซีย ในการต่อสู้กับโจรสลัด และอาชญากรรมอื่น ๆ ทั้งในประเทศและข้ามชาติ

เกาะบาตัม ขนาดพื้นที่ 715 ตารางกิโลเมตร ประชากร 1.2 ล้านคน เป็นหนึ่งใน 3 เกาะหลักของจังหวัดหมู่เกาะรีเยา อยู่ทางตะวันออกนอกชายฝั่งของเกาะใหญ่สุมาตรา แต่อยู่ใกล้ประเทศสิงคโปร์ นอกชายฝั่งทางใต้ ห่างเพียงแค่ 20 กิโลเมตร เกาะบาตัมเป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะพื้นที่เขตการค้าเสรี สามเหลี่ยมเศรษฐกิจซิโจรี และเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือบาตัม กองทัพเรืออินโดนีเซีย

นายคิม ซัง-ยอง กล่าวว่า ศูนย์ฝึกแห่งใหม่จะช่วยผลักดัน ความพยายามของอินโดนีเซียและสหรัฐ ในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ในฐานะที่เป็นทั้ง “เพื่อนและหุ้นส่วน” ของอินโดนีเซีย สหรัฐยังคงยึดมั่นต่อการสนับสนุน บทบาทสำคัญของจาการ์ตา ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคง

ส่วน พล.ร.ท.อายาน กล่าวว่า การก่อสร้างศูนย์ฝึก ฯ จะแล้วเสร็จในปีหน้า หลังจากนั้นบากัมลาจะเป็นเจ้าของ และปฏิบัติการศูนย์ ฯ ทั้งหมด โดยจะไม่มีทหารสหรัฐประจำการแม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม พล.ร.ท.อายาน ปฏิเสธที่จะระบุเหตุผลจำเพาะ การเลือกสถานที่ตั้งศูนย์ฝึกแห่งใหม่ บนเกาะบาตัม เพียงแต่กล่าวว่า ศูนย์เกิดขึ้นขจากความร่วมมือ ระหว่างบากัมลา ซึ่งก่อตั้งในปี 2557 หน่วยเรือยามฝั่งสหรัฐ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

นอกเหนือจากโจรสลัดชุกชุม ช่องแคบมะละกายังมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจการค้าของจีน รวมทั้งการขยายอิทธิพลของจีน ในภูมิภาคและทั่วโลก ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การค้าของปักกิ่ง เน้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการพึ่งพาช่องแคบแห่งนี้ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเถา ของจีน เคยพูดเมื่อเดือน พ.ย. 2546 เกี่ยวกับ Malacca Dilemma ความหายนะต่อเศรษฐกิจจีน หากช่องแคบมะละกาถูกปิดกั้น

ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางสั้นที่สุด สำหรับจีนในการขนส่งสินค้าทางเรือ เชื่อมต่อกับยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ประมาณ 80% ของพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่จีนนำเข้าจากตะวันออกกลาง ต้องแล่นผ่านช่องแคบนี้

นี่คือเหตุผลทางยุทธศาสตร์เบื้องหลังการขยายอิทธิพลของจีน โดยอ้างกฎหมายที่คลุมเครือ “เส้นประ 9 เส้น” อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่ลงมาเกือบถึงเกาะบาตัม ซึ่งหากสำเร็จ จีนก็จะสามารถป้องกันกองกำลังทางทะเลของศัตรู ไม่ให้เข้าถึง หรือปิดกั้นช่องแคบมะละกาได้

การอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ของจีน ทำให้เกิดความขีดแย้งกับหลายประเทศ ที่อยู่ในเขตน่านน้ำ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน ส่วนอินโดนีเซียแม้จะไม่ได้อ้างกกรมสิทธิตามกฎหมาย เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่น่านน้ำบางส่วนของอินโดนีเซีย อยู่ในแนว “เส้นประ 9 เส้น” ของจีน ซึ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทะเล ระหว่าง 2 ประเทศ หลายครั้ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การเปิดศูนย์ฝึก ฯ มีขึ้นหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการแบบเสมือนจริง ระหว่างบากัมลากับหน่วยเรือยามฝั่งสหรัฐ เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล หลังมีการกล่าวอ้าง มีการตรวจพบโดรนใต้น้ำ หรือ ยูยูวี (UUV) ของจีน เข้าไปป้วนเปี้ยนในเขตน่านน้ำของอินโดนีเซีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP