น.ส.มิเชล ดูเอิสท์ รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ เปิดเผยว่า ในปี 64 นี้ การ์ทเนอร์คาดการณ์ มูลค่าการ ใช้จ่าย ด้านไอทีของภาคอุตสาหกรรมการผลิตฯ ของไทย จะมีมูลค่า 75,015 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.80%  จากปีที่แล้ว ส่วนในปี 65 คาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก  4.41% หรือมีมูลค่าเป็น 78,325 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 68 บริษัทผู้ผลิตสินค้า อุปโภคบริโภคชั้นนำ 50 อันดับแรกจะลงทุนในแอพของตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) และฝังลงไปในสินค้า และองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์แบบ Total Experience  ที่ผสานประสบการณ์ ของลูกค้าและพนักงานเข้าด้วยกันจะทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่งราว 25% และครึ่งหนึ่งในสินทรัพย์ ขององค์กรภาคการผลิตขนาดใหญ่ระดับโลกจะประสบความสำเร็จจากการสร้างรายได้ด้วยข้อมูลที่มี

นอกจากนี้การ์ทเนอร์ยังได้วิเคาะห์ 5 เทรนด์การทำธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลกในปี 64  คือ 1. ผสานประสบการณ์ดิจิทัลเข้ากับตัวสินค้า เป็นการผสมผสานระหว่างตัวสินค้าและบริการดิจิทัล เพื่อนำเสนอ ประสบการณ์ในรูปแบบใหม่อย่างมีเอกลักษณ์ให้แก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป 2. ประสบการณ์ครบ จบในที่เดียว คือ วิธีการที่ซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีใช้เทคโนโลยีและการโต้ตอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ  3. ความร่วมมือของพันธมิตรในระบบนิเวศ ซึ่งองค์กรระดับโลกหลายรายสามารถใช้ประโยชน์ จากความร่วมมือ ในระบบนิเวศสร้างโอกาสการเติบโตที่มากกว่าและไม่จำกัดอยู่ในตลาดขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมแต่ยังรวมไปถึงตลาดที่กำลังพัฒนา

4. การสร้างรายได้จากข้อมูล ช่วยซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรมการผลิตวางแผนเพิ่มรายได้จากการ แปลงสินค้าและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล สร้างรายได้เพิ่มจากข้อมูลจำนวนมหาศาลผ่านเครือข่ายระบบนิเวศขององค์กร และ 5. การให้บริการผ่านอุปกรณ์เป็นโมเดลเชิงพาณิชย์ที่หลายธุรกิจใช้สำหรับชำระค่าธรรมเนียม ในขั้นตอนการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทนที่การจัดซื้ออุปกรณ์

 “การตอบสนองแรกต่อการแพร่ระบาดทั่วโลกของผู้ผลิตหลายรายคือการเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ​ การ์ทเนอร์วิเคราะห์เทรนด์ที่สามารถช่วยซีไอโอ และผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรมการผลิตเตรียมพร้อม รับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และปัญหาการเงิน ฯลฯ” น.ส.มิเชล กล่าว