เมื่อวันที่ 24 เม.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียน “ภาษาพาที” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และตนได้มอบหมายให้ สพฐ. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบบเรียนดังกล่าว และนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแบบเรียนในอนาคตให้ได้แบบเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ตนในฐานะ รมว.ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และภาวะทุพโภชาการในเด็ก จึงได้ผลักดันให้เพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก เยาวชน และนโยบายด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเห็นความสำคัญเรื่องโภชนาการที่ดีของเด็ก จึงได้อนุมัติให้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ จากที่ได้รับ 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นปรับเพิ่มให้ตามขนาดของโรงเรียน โดยโรงเรียนขนาดเล็กได้ปรับเพิ่มสูงสุดที่ 36 บาทต่อคนต่อวัน และได้เริ่มจัดสรรงบประมาณลงไปแล้ว โดยตนได้เน้นย้ำไปว่าโรงเรียนต้องจัดอาหารให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีสุขภาพกายที่พร้อมต่อการเรียนรู้

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเข้าใจภาระค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงได้เพิ่มเงินงบประมาณการจัดการศึกษา ในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยจัดงบประมาณส่งตรงถึงโรงเรียน เพื่อสนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และโรงเรียนส่งเงินส่วนหนึ่งให้ผู้ปกครองนักเรียนซื้อเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียนด้วยตนเอง ทำให้ในภาพรวมมีงบประมาณรายหัวเพื่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ มีการยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศ มีการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มที่อยู่ในและนอกระบบโรงเรียน กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถได้เรียนและมีอาชีพติดตัว รวมถึงลดภาระงานครู ลดการประเมินต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูให้มากขึ้น

“ตั้งแต่ดิฉันเข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ. มา ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานของ ศธ. ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ประสบผลสำเร็จและได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ สามารถพาเด็กตกหล่นและหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามามีโอกาสเรียนอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดมีเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามาเรียนมากถึง 79,318 คน และถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ ศธ. ก็ยังดำเนินการติดตามเด็กที่ยังไม่กลับมาให้กลับเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้ทั้งส่วนกลางและทุกสถานศึกษาตื่นตัว มีความตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งผลงานที่ปรากฏออกมา ก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง” รมว.ศธ. กล่าว.