เหตุสลด “ลั่นไก” ปลิดชีพคู่รักล่าสุด เป็นหนึ่งตัวอย่าง “จุดจบ” ที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับคู่รัก หรืออดีตรักคู่ใด แม้ว่าความรักนั้นจะ “ไม่สมหวัง” ก็ตาม

ย้อนสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคู่รัก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เคลื่อนไหวผลักดันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแง่มุมต่างๆ เคยเก็บสถิติรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัวเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ช่วงปี 2563 ปรากฏสถิติน่าสนใจ เพราะมีข่าวฆาตกรรมในคู่รักมากถึง 323 ข่าว หรือคิดเป็น ร้อยละ 54.5 ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์แค่ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก เกินครึ่ง หรือ คิดเป็น ร้อยละ 54.1 อยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปี สาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติ อันเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน

อีกด้านรายงานความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2564 พบสถิติหญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ ไม่ต่ำกว่าวันละ 7 คน และมีการแจ้งความเฉลี่ยปีละ 30,000 ราย

ข้อมูลมูลนิธิหญิงชาวก้าวไกล ชี้วิธีป้องกันก่อนเหตุรุนแรงบานปลาย หนึ่งในนั้นคือ การที่ผู้ตกอยู่ในสถานการณ์มีความรู้ ความเข้าใจสัญญาณความรุนแรงที่สังเกตได้แต่เนิ่นๆ โดยก่อนหน้านี้มีโครงการร่วมกับภาคีคือ โครงการ “Abuse is Not Love” ที่มีเป้าหมายเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักถึงสัญญาณเตือนความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่ง “ทีมข่าวอาชญากรรม” มองเป็นหนึ่งประเด็นน่าสนใจ และอยากหยิบยกข้อสรุป “9 สัญญาณอันตราย” ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง มาถ่ายทอดต่อ เผื่อเป็นข้อสังเกตให้คู่รักหาทางหลุดพ้นก่อนสาย

“หมางเมิน” ในวันที่พวกเขาโกรธ

“แบล็กเมล์” ถ้าคุณปฏิเสธจะทำบางอย่าง

“ทำให้อับอายขายหน้า” จนคุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

“พยายามปั่นหัว” เพื่อบังคับให้คุณทำ หรือพูดบางอย่าง

“หึงหวง” ในทุกอย่างที่คุณทำ

“ควบคุม” ว่าคุณจะไปไหนและแต่งตัวแบบใด

“รุกราน” ด้วยการตรวจโทรศัพท์ หรือติดตามที่อยู่ของคุณ

“ตัดขาด” ให้คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว

“ข่มขู่” ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติ และปลูกฝังความกลัว

ต้องยอมรับในหลายความสัมพันธ์มีความซับซ้อน การมองและตัดสินใจโดยบุคคลภายนอกอาจดูเหมือนง่าย ต่างจากผู้ตกอยู่ในเหตุการณ์ ทางเลือกและการตัดสินใจไม่อาจทำได้ “ชั่วข้ามคืน” จนเป็นที่มาของคำถามที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง ทำไมผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงถึงไม่ออกมาเรียกร้องในทันที แต่ปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปแล้ว

จากการทำงานกับผู้เสียหายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิเคราะห์เหตุผลไว้ 10 ข้อ ได้แก่

1.ตกอยู่ในภาวะความกลัว ถูกข่มขู่ คุกคามจากฝ่ายชาย

2.ฝ่ายชายมีอำนาจ มีภาพลักษณ์ที่ดี และได้รับการยอมรับจากสังคม

3.มายาคติของสังคมที่มักตั้งคำถามกับฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย

4.เคยรู้สึกว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หรือคิดว่าฝ่ายชายจะเปลี่ยนได้

5.กลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับลูก ครอบครัว หรือปัญหาเศรษฐกิจ

6.ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้ออกมาพูด

7.ที่ผ่านมาไม่มีคนที่ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้

8.ระบบกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา (รวมผู้บังคับใช้กฎหมายขาดความเข้าใจ มีหลักคิดชายเป็นใหญ่)

9.ต้องใช้เวลาเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ และทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น

10.ต้องการหยุดพฤติกรรมความรุนแรง และเข้าใจว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ไม่ว่ายังรัก หรือเลิกรัก ไม่มีเหตุผลใดที่ใครสักคนมีสิทธิกระทำรุนแรงกับบุคคลอื่น สำหรับผู้ถูกกระทำการสังเกตสัญญาณแม้ไม่ใช่ทางออกปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาจช่วยประกอบการตัดสินใจ และเลือกทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นได้ โดยไม่สูญเสียรุนแรง.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]