“เราใช้วิถีชีวิตของคนในชุมชนมาเป็นกิจกรรมสร้างรายได้สู่ชุมชน และดึงเยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพราะไม่อยากให้เด็ก ๆ ในชุมชนออกไปอยู่นอกหมู่บ้าน อยากให้สืบสานวิถีของหมู่บ้านต่อไปไม่ให้สูญหาย“ เสียงจากหนึ่งในแกนนำ “ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์” ยํ้าหนักแน่นถึงความตั้งใจที่ต้องการรักษาและสืบสาน “วิถีดั้งเดิม” ของชุมชนแห่งนี้ ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…

ช้อน “เคย” ทำกะปิ อีกวิถีจุดขาย

ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 .นาโคก อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซึ่งข้อมูลโดยสังเขปของที่นี่คือ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งติดกับอ่าวรูปตัว ก. โดยเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และทำกะปิ เป็นอาชีพหลัก อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนก็เริ่มที่จะจางหายไป ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ทางผู้นำชุมชนจึงได้ชักชวนชาวบ้านในชุมชนมารวมกลุ่มจัดตั้งเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ขึ้น โดยหนึ่งในกลไกที่ถูกหยิบจับนำมาใช้เพื่อรักษาวิถีชีวิตไว้ให้คงอยู่ นั่นก็คือกลไก การท่องเที่ยวชุมชนโดยได้มีการดึงเยาวชนในชุมชนมาร่วมขับเคลื่อน…

ทราย-กังสดาร

“ทราย-กังสดาร ชาญฤทธิ์” หนึ่งในตัวแทนของชุมชน และเป็นพี่ใหญ่ที่ดึงเด็กในชุมชนให้เข้ามาร่วมดูแลการท่องเที่ยวบ้านชายทะเลรางจันทร์ เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ชาวบ้านในชุมชนนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำประมงชายฝั่ง หาปู หากุ้ง หาปลา และช้อนเคยนำมาทำกะปิ โดยการทำกะปิ และการทำกุ้งแห้ง ถือเป็นอาชีพสำคัญของคนที่นี่

ส่วน แนวคิดรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นั้น ทรายเล่าว่า เกิดจากการที่สินค้าของชุมชนตกต่ำ และถูกกดราคา จึงได้มีการเรียกประชาคมหมู่บ้านมาร่วมประชุมกัน และที่ประชุมเสนอให้ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อขายผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มจากมีคนในชุมชนเข้ารวมกลุ่มไม่ถึง 10 คน หลังจากนั้นสมาชิกก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 50 กว่าคน

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เยี่ยมชมการ “ตำกะปิ”

ทราย-กังสดาร บอกว่า หลังรวมกลุ่มแล้วก็ต่อยอดทำ ชุมชนท่องเที่ยว นำของดีที่มีมาใช้เป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม เรียนรู้วิถีชุมชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำผ้ามัดย้อม ตำกะปิโบราณ ไถกระดานเก็บหอย ทำไข่เค็มพอกโคลน โดยมี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) ที่ผู้จัดการคนปัจจุบันคือ ฉัตรชัย ศิริไล เป็นองค์กรที่เข้ามาส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนด้านความรู้ เติมทุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของชุมชน ที่จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน เพื่อนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

เรามีทุนเดิมในชุมชนอยู่แล้ว ที่ไม่ต้องไปหาซื้อ นั่นก็คือ วิถีและภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า เช่น การทำกะปิ ที่เมื่อก่อนใช้วิธีการตำ แต่เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องโม่ เราก็เลยหยิบตรงนี้มาทำเป็นกิจกรรมให้คนข้างนอกเขารู้ว่าเมื่อก่อนทำกะปิก็ต้องใช้วิธีการแบบนี้ หรือการทำไข่เค็ม ก็เป็นการถนอมอาหารของคนในชุมชน โดยใช้ดินโคลนจากทะเลมาพอก และผ้ามัดย้อมก็เหมือนกัน เมื่อก่อนใช้เปลือกต้นโกงกาง ลูกกระบูน มาย้อมแหย้อมอวนให้มันดูใหม่ เราก็เลยลองเอามาย้อมเสื้อ หรือแม้แต่กิจกรรมจับปู จับหอย ที่อาศัยการถีบกระดาน เราก็นำมาทำเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว

ส่วนหนึ่งของเยาวชนในชุมชน

ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมนั้น ทรายยังเล่าว่า ทางกลุ่มต้องการดึงเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เข้ามาดูแลและเป็นคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยจะให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมคอยทำหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดไปด้วยในตัว นอกจากนั้นยังช่วยให้เด็ก ๆ ในชุมชนมีรายได้ และห่างไกลยาเสพติด

ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เราจะให้เด็กในชุมชนมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ตามฐานเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตำกะปิ การทำไข่เค็ม การทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกต้นโกงกาง และอื่น ๆ รวมถึงดูแลเรื่องอาหารการกินให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย ทำให้เด็ก ๆ มีรายได้จากตรงนี้ แต่ที่ตั้งใจจริง ๆ คืออยากให้เด็ก ๆ รักบ้านเกิด อยากให้เขารู้ว่ามีทุนในชุมชนที่หยิบมาเป็นอาชีพได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เป็นความตั้งใจของชุมชนที่ ทราย-กังสดาร บอกเล่า

พลอย-ณิชาภัทร์

ทางด้าน พลอย-ณิชาภัทร์ เมฆสวัสดิ์ หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลการท่องเที่ยวชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ เผยว่า  เธอเป็นเด็กที่เติบโตในชุมชน แต่หลังเรียนจบก็ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน จนสุดท้ายลาออกจากงานและกลับมาทำการท่องเที่ยวชุมชน โดยเธอมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ดึงเด็กในชุมชนให้มาทำหน้าที่นี้ เพราะทำให้เด็ก ๆ มีรายได้ โดยเด็กจะมีรายได้อยูที่ 400-500 บาทต่อคน ซึ่งถ้าอาทิตย์หนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว  4-5 วัน ก็จะมีรายได้ตกคนละ 2,000-2,500 บาท

เด็ก ๆ ที่เข้ามาช่วยกันตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติ ๆ  เป็นพี่น้องกันหมด โดยจะมีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ไปจนถึงอายุ 20 กว่า ๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ 20 กว่าคน ซึ่งในช่วงแรก ๆ ที่ทำท่องเที่ยวชุมชน เราจะรับนักท่องเที่ยวแค่ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเด็ก ๆ ไม่ต้องไปเรียนหนังสือ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ นักท่องเที่ยวเยอะมาก โดยเข้ามาเกือบทุกวัน บางครั้งก็ต้องลาหยุดให้เด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ มาช่วยงาน ทาง พลอย-ณิชาภัทร์ หนึ่งในเยาวชนตัวแทนของกลุ่มฯ บอกเล่าเรื่องนี้ และสำหรับ “กิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน” นั้น พลอยยังบอกว่า เริ่มทำทัวร์เมื่อปี 2560 ก็ได้เด็ก ๆ มาร่วมคิดร่วมกันทำ และก็ช่วยกันโปรโมตผ่าน เฟซบุ๊ก ชื่อ บ้านชายทะเลรางจันทร์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง จนมาสะดุดกับโควิด-19

เยาวชนร่วมขับเคลื่อนชุมชน

ทำได้ 2 ปี ก็เจอพิษโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว ตอนนั้นเรียกว่าแย่เลย เราก็ต้องมาร่วมกันคิดหาวิธีหารายได้ในช่วงนั้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ด้วยการไลฟ์สดขาย และนำเด็กเยาวชนในชุมชนามาช่วยแพ็กสินค้าเพื่อจัดส่งให้ลูกค้า เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จนผ่านพ้นวิกฤติมาได้ เป็นเส้นทางพลิกฟื้นชุมชนในช่วงที่ชุมชนต้องเผชิญวิกฤติโควิด จากการบอกเล่าของ พลอย-ณิชาภัทร์

ทั้งนี้ ก่อนอำลาจาก ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ จ.สมุทรสาคร แห่งนี้ ทาง ทราย-กังสดาร ตัวแทนชุมชนได้ยํ้าทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ดีใจที่สามารถผลักดันทำให้คนภายนอกได้รู้จักชุมชนของเธอ และนอกจากจะดีใจที่ชุมชนเป็นที่รู้จักจากสังคมภายนอกแล้ว ที่ภูมิใจที่สุดคือการ ดึงเยาวชนมาเป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชน โดยเธอกล่าวว่า ดีใจและภูมิใจที่เรื่องนี้ทำให้ชุมชนมีรายได้ ซึ่งนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว สิ่งที่รู้สึกดีมากนับตั้งแต่ทำเรื่องนี้มา นั่นก็คือการมีส่วน…

ทำให้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่รักกัน.

คุณยาย “ติ๋ว กงม้า”

จากใจ ‘ผู้ถ่ายทอด’ ถึงผู้สืบทอด

รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เห็นเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานมาสืบสานวิถีภูมิปัญญาของชุมชนต่อ เพราะหากไม่มีเด็กพวกนี้แล้ว ส่วนตัวแล้วเราก็กลัวเหมือนกันว่าภูมิปัญญาของท้องถิ่นเหล่านี้จะสูญหายไปจากชุมชน เสียงจาก “ติ๋ว กงม้า” หนึ่งใน “สมาชิกเก่าแก่” ของ ชุมชนบ้านชายทะเลรางจันทร์ เผยความรู้สึกไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยคุณยายท่านนี้ได้รับการยกย่องจากคนในชุมชนว่าเป็นเสมือน “ปราชญ์ชุมชน” โดยคุณยายมีบทบาทในการ ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ อาทิ ภูมิปัญญาการทำกะปิจากเคย การทำอาหารท้องถิ่น รวมถึงการทำผ้ามัดย้อม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คุณยายไม่เหงาแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการ “อนุรักษ์สืบสานวิถีชุมชน” อีกด้วย โดยคุณยาย ติ๋ว กงม้า ย้ำถึงความรู้สึกว่า ทุกวันนี้ รู้สึกมีความสุขมาก ที่ได้เห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้สัมผัสวิถีของชุมชน และก็ดีใจมากที่เห็นลูก ๆ หลาน ๆ ของเรายังคงรักในวิถีบ้านเกิด.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน