เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ รกท.ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอสำนักงานเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และสำนักงานเจ้าอาวาสทุกแห่ง

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวสัมโมทนียกถาเปิดประชุม ความโดยสังเขปว่า ขออนุโมทนาขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและคณะที่ได้สนองงานคณะสงฆ์ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนภารกิจงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์และจัดประชุมสื่อสารทำความเข้าใจขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ในวันนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือวัดสังคม และชุมชน ให้ประสบความสำเร็จ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565

“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เนื่องด้วยชนชาติไทยนับตั้งแต่มีประวัติความเป็นชาติมาได้นับถือและยกย่องเทิดทูนพระพุทธศาสนาเป็นสรณะแห่งชีวิต พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างความมั่นคงและความวัฒนาสถาพรให้กับประเทศชาติ ซึ่งการสาธารณสงเคราะห์นั้น คือ การช่วยเหลือสังคมทางวัตถุในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ใช้พื้นที่ของวัดเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล ช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สงเคราะห์สถานที่จัดฝึกอบรมอาชีพต่างๆ แก่ประชาชน และเป็นศูนย์รวมของการทำกิจกรรมของชุมชน โดยมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมาคณะสงฆ์ได้ดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์ ในหลักการ 4 ด้าน คือ 1.การสงเคราะห์ 2.การเกื้อกูล 3.การพัฒนา และ 4.การบูรณาการ โดยมีแนวทางการสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกันให้เกิดผลดีกับสังคม ซึ่งฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมจะส่งเสริมใน 8 ประการ คือ 1.เผยแผ่หลักธรรมคำสอนในการเสริมสร้างให้คนมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 2.ช่วยสงเคราะห์พุทธศาสนิกชนให้มีขวัญกำลังใจในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา” 3.สนับสนุนให้ประชาชน ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม มีจิตอาสาความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน 4.ดำเนินกิจกรรมการช่วยเหลือและการพัฒนาสังคมทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ 5.ส่งเสริมสนับสนุนพระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์กรพระพุทธศาสนา ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” 6.ขับเคลื่อนพันธกิจฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ด้านการสงเคราะห์เพื่อสังคม 7.พัฒนางานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์และพัฒนางานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) สร้างสังคมสุขภาวะสู่นโยบายระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่8. พัฒนาระบบกลไกการบูรณาการการทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์ร่วมกันระหว่างองค์กรสงฆ์ ภาคีเครือข่าย สร้างการรับรู้และเชื่อมประสานการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ พระสังฆาธิการ พระสงฆ์นักพัฒนา และประชาชน เพื่อพัฒนาการทำงานสาธารณสงเคราะห์ การสงเคราะห์ชุมชน และพัฒนาการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ” สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว 

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ เพิ่มเติม ได้แก่ 1.ให้จังหวัดทุกจังหวัดร่วมดำเนินการสาธารณสงเคราะห์ร่วมกับศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 19/2565 ที่ได้มีมติให้เจ้าคณะจังหวัดและคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัดคัดเลือกพื้นที่จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ในพื้นที่ อันจะส่งเสริมความร่วมมือเกื้อหนุนระหว่างวัด ชุมชน และภาคีเครือข่าย ให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ 2.ให้พระสงฆ์ร่วมบูรณาการทำงานกับฝ่ายปกครองและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมภูมิปัญญาการหาเลี้ยงชีพ ด้านจิตอาสาเพื่อสังคม ด้านเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง และด้านอื่นๆ ตามบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ ทำให้ทุกชุมชนมีแบบแผนมีส่วนร่วม มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตและคุณค่าความเป็นมนุษย์ 3.ให้ฝ่ายปกครอง จัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการให้ความช่วยเหลือบูรณาการระหว่างฝ่ายปกครอง ได้แก่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพระสงฆ์ จัดตั้งหน่วยฝึกอบรม ศูนย์เรียนรู้โดยใช้สถานที่ภายในวัดเป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 4.ร่วมถอดบทเรียนวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเป็นต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้เกิดคุณประโยชน์กับวัดอื่นต่อไป ซึ่งการประชุมร่วมกันในวันนี้เป็นการประสานพลังความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกันโดยใช้หลักแห่งความเมตตาธรรม คือ “ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน” ในการจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ธรรม ให้วิชาชีพ  มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของวิชาการและการพัฒนา ระหว่างคณะสงฆ์ ฝ่ายบ้านเมือง และทุกภาคีเครือข่ายในสังคมต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จกล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทยที่คณะสงฆ์ได้มีเมตตาในการขับเคลื่อนงานสาธารณสงเคราะห์ซึ่งสอดคล้องกับงานในหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการทุกคนในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน คือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เช่น ภาควิชาการ คือ มหาวิทยาลัย วิทยาลัยโรงเรียน หรือปราชญ์ชาวบ้านในสังคม รวมถึงผู้นำศาสนาด้วยการนิมนต์พระสังฆาธิการทุกระดับ รวมถึงผู้นำศาสนาอื่นๆ ร่วมกันขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั้งงานเฉพาะหน้า (ระยะสั้น) คือ การสงเคราะห์ ช่วยเหลือเวลาตกทุกข์ได้ยาก เช่น บ้านไฟไหม้ ก็นำข้าวอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่หลับที่นอนมอบให้ และช่วยกันสร้างบ้าน ช่วยกันทำให้เขามีที่อยู่อาศัย หรือเป็น “ยาฝรั่ง” และอีกส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานแบบยั่งยืน หรือ “ยาไทย” คือการพัฒนา เกื้อกูล บูรณาการ และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระศาสนา เพื่อทำให้คนเป็นคนดีอย่างถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการให้คนไทยได้ตื่นตัวและมีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้มีจิตอาสา ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” รวมทั้งพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” อันจะทำให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน มีความรักความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลกัน โดยขอให้ทุกจังหวัดได้นำ MOU ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามเป็นกรอบในการจัดทำ MOU ในระดับพื้นที่ เพื่อจะได้มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่มาเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนภายใต้กรอบของบันทึกข้อตกลง ทำให้เกิดมรรคผลทั้งในเชิงสัญลักษณ์ คือ การลงนาม MOU ร่วมกัน และในทางปฏิบัติ คือ การล้อมวงนั่งปรึกษาหารือและวางแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือฯ ในระดับจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด และระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ รวมถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ในสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งนิมนต์พระสังฆาธิการเพื่อจับคู่ 1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) อันจะเป็นการสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา“หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งขณะนี้มี 7,255 หมู่บ้านเป้าหมายที่เป็นวิชาบังคับและหมู่บ้านที่เหลือเป็นวิชาเลือก ที่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ มั่นคง แข็งแรง มีส้วมถูกสุขลักษณะ มีบ้านเรือนที่สะอาด มีการบริหารจัดการขยะ มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน ประชาชนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มดูแลช่วยเหลือกัน ร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่ดี ให้เกิดขึ้น

“ให้อธิบดีกรมการปกครองได้รวบรวมข้อมูลภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ทั้งภาคราชการ คณะสงฆ์ และอีก 6 ภาคีเครือข่าย ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อประมวลจัดพิมพ์ทำเนียบถวายมหาเถรสมาคมกราบทูลถวายรายงานการขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืนเฉลิมพระเกียรตินอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อน คือ การมุ่งมั่นปฏิบัติงานโดยมี “ผู้นำ” คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่พวกเราทุกคนตั้งใจพร้อมทั้งหมั่นสื่อสารให้กำลังใจภาคีเครือข่าย และสื่อสารกับสังคมให้ได้รับรู้รับทราบการขับเคลื่อนงาน เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งความช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในหมู่บ้านที่ยั่งยืน และตำบลที่ยั่งยืนทั่วประเทศ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายอินทพร จั่นเอี่ยม รกท.ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรม เพราะงานคณะสงฆ์ทั้ง 6 ประการ คือ งานปกครอง เผยแผ่ การศึกษาสาธารณูปการ ศึกษาสงเคราะห์ และสาธารณสงเคราะห์ ซึ่ง “งานสาธารณสงเคราะห์” มีมาช้านานและเป็นหน้าที่ของพระสังฆาธิการ ซึ่งพระสงฆ์ทั่วประเทศได้ทำอยู่ เป็นการช่วยเหลือเกื้อหนุนทำให้สังคม/ชุมชนพ้นทุกข์ เป็นการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน คือ คณะสงฆ์ทำให้ประชาชนทำด้วยความศรัทธา แม้ไม่มีเงิน ก็ทำด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังความสามารถ โดยมีพระเป็นผู้นำการเข้าถึงปัญหา ซึ่งหลังจากนี้ การจัดตั้งศูนย์ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย จะเป็นการเสริมพลัง “บวร” ให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดร่วมสนับสนุนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในการสนองงานคณะสงฆ์ให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน สอดคล้องกับภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทยอย่างยั่งยืน.