ข้อดีชีวิตกลับมาเป็นปกติ แต่ข้อเสียคือโอกาสเดินทางและการฉลองเต็มที่ เสี่ยงตามมาด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน “ทีมข่าวอาชญากรรม” พาย้อนเตือนใจกับความสูญเสียห้วง 10 ปี เฉพาะ7 วัน อันตราย แต่ละปีเฉลี่ยเสียชีวิต 200-300 ราย ยังไม่นับรวมกลุ่มเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ตลอด 10 ปี มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนช่วงสงกรานต์ 3,365 ราย แบ่งเป็น 

ปี 2556 เสียชีวิต 321 ราย       ปี 2557 เสียชีวิต 322 ราย     

ปี 2558 เสียชีวิต 364 ราย       ปี 2559 เสียชีวิต 442 ราย     

ปี 2560 เสียชีวิต 390 ราย        ปี 2561 เสียชีวิต 418 ราย

ปี 2562 เสียชีวิต 386 ราย       ปี 2563 เสียชีวิต 167 ราย     

ปี 2564 เสียชีวิต 277 ราย       ปี 2565 เสียชีวิต 278 ราย

แนวโน้มสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต จากข้อมูล ศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยหลักมี 4 ข้อ คือ ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนด ดื่มขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด และหลับใน

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเฉพาะปี 2564 กับปี 2565 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย ปัจจัยสำคัญต่อความรุนแรงคือ ความเร็ว ประกอบกับไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยอย่างหมวกกันน็อก เข็มขัดนิรภัย ส่วนอื่นๆ คือ หลับใน ชนวัตถุอันตรายข้างทาง

เจาะเฉพาะการใช้ความเร็วเกินกำหนดซึ่งเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิต ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60 เสียชีวิตคาที่ (ในที่เกิดเหตุ) และหากเทียบสาเหตุอุบัติเหตุกับการเสียชีวิต การขับรถเร็วเกินกำหนดเป็นสาเหตุที่มีสัดส่วนทิ้งห่างชัดเจน ดังนี้           

สาเหตุอุบัติเหตุ (ร้อยละ)การเสียชีวิต (ร้อยละ)
ขับเร็ว36.756.8
ดื่มขับ27.216.5
ตัดหน้า17.624.5
ทัศนวิสัย15.212.9
สภาพถนน6.64.3

สำหรับประเภทถนนที่มักขับเร็วเกินกำหนด ได้แก่ ถนนกรมทางหลวงชนบท และ ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ช่วงอายุผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่อายุ 20-29 ปี รองมาคือ 30-39 ปี, 50-59 ปี, 40-49 ปี, 15-19 ปี, 60-69 ปี, 1-14 ปี และมากกว่า 70 ปี

ทั้งนี้ หากเจาะสาเหตุเกี่ยวกับการดื่มขับ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มขับร่วมด้วยในช่วงสงกรานต์ปี 2565 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 โดยเฉพาะช่วงการฉลองระหว่างวันที่ 14-15 เม.ย. พบคนดื่มสูงถึงร้อยละ 30

ที่น่าสนใจคือ ประเภทรถกระบะเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงแต่ละครั้งของการเกิดเหตุมากกว่ารถจักรยานยนต์ถึง 2 เท่า มีการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างสงกรานต์ ปี 2562 และ 2564 จากข้อมูลบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด กลุ่มผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มวัยทำงานเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 51 เป็นร้อยละ 62 ขณะที่กลุ่มผู้นำครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 เพิ่มเป็นร้อยละ 40

อย่างไรก็ตาม หากมองสถิติหยุดยาวล่าสุดในช่วงปีใหม่ 2566 สาเหตุหลักการเสียชีวิตบนถนนมาจากขับเร็ว ผู้เสียชีวิตเกินครึ่ง ร้อยละ 53 เสียชีวิตใกล้บ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 71 การเสียชีวิตเพราะสมองได้รับความกระทบกระเทือน 

ข้อมูลข้างต้นเป็นตัว “ชี้วัด” ชัดเจนถึงความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และส่วนหนึ่ง “ป้องกัน” ได้ เพราะปัจจัยสำคัญเกิดจากมนุษย์ ช่วงวันหยุดที่เหลือโดยเฉพาะการเดินทางกลับจึงขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเอง เพื่อให้คนสัญจรรอบข้างปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย. 

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]