ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้เสียหายด้านทรัพย์สินอันเนื่องจากลมพายุรุนแรง สายฝนผิดฤดูที่กระหน่ำหนัก และบางทีก็ผสมโรงด้วยลูกเห็บแล้ว…ยังรวมถึงสายฟ้าฟาด “ฟ้าผ่า” ที่ทำให้ “เสียชีวิต” ได้!! อย่างช่วงก่อนสงกรานต์ที่ จ.ระยอง ก็เกิดฟ้าผ่าใส่ต้นไม้ แล้วกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่เพิ่งพักบริเวณดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งตอกย้ำ “อันตรายร้ายแรงจากฟ้าผ่า” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอเตือนย้ำไว้…

แม้ไม่ใช่ฤดูฝนก็มี “ฟ้าผ่า” เกิดขึ้นได้

และเมื่อเกิดขึ้นก็ “ร้ายแรงถึงตาย” ได้!!

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มนำเสนอเน้นย้ำเกี่ยวกับ “กระบวนการเกิดฟ้าผ่า” โดยเรื่องนี้ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง “ชมรมคนรักมวลเมฆ” ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติกรณีนี้ไว้ผ่านบทความชื่อ “ฟ้าผ่า…เรื่องที่คุณต้องรู้” ซึ่งข้อมูลโดยสรุปโดยสังเขปนั้นมีดังนี้คือ… “ฟ้าผ่า” เป็น “การปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ” ที่อาจจะเกิดร่วมกับปรากฏการณ์อื่น ๆ เช่น ฝนฟ้าคะนอง พายุฝุ่น หรือภูเขาไฟระเบิด โดยปรากฏการณ์ “ฟ้าผ่า” ที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจาก “เมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud)” หรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า…

เมฆ…“คิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus)”

ที่เป็นชนิดของเมฆที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่า

และถ้าหากยึด “หลักการ” ที่ว่า… ฟ้าผ่าเชื่อมโยงบริเวณ 2 แห่งที่มีประจุต่างกัน แล้วล่ะก็…ในกรณีนี้ก็จะพบ “รูปแบบฟ้าผ่า” ได้อย่างน้อย 4 แบบ นั่นคือ… 1.ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง 2.ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น 3.ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น และ 4.ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ ซึ่งรูปแบบสุดท้ายนี้เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะฟ้าผ่ารูปแบบใดก็ล้วนแต่แฝงไว้ด้วย “อันตรายร้ายแรง” โดยเฉพาะ “ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้น-สู่คน”

นอกจากข้อมูลข้างต้น…กับ “ภัยฟ้าผ่า” ก็มีอีกชุดข้อมูลที่น่าเสนอย้ำกันไว้ โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดทำและเผยแพร่ไว้ให้ประชาชนได้นำไปศึกษาเพื่อป้องกันภัย ซึ่งหลักใหญ่ใจความมีว่า… แม้การป้องกันการเกิดฟ้าผ่าจะไม่สามารถทำได้ แต่ การ “หลีกเลี่ยงโอกาสถูกฟ้าผ่า” สามารถ “ทำได้” ซึ่งสำหรับ “แนวทางปฏิบัติ” เพื่อลดความเสี่ยงจากฟ้าผ่านั้น มีคำแนะนำไว้ว่า…เริ่มต้นจาก ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงการเกิดฟ้าผ่าต้องหมั่นฟังประกาศเตือนภัย และ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเตรียมตัวเบื้องต้นให้ปลอดภัย …นี่เป็นหลักการคร่าว ๆ เบื้องต้น

ขณะที่ “การป้องกันตัว-การป้องกันภัย” จาก “ฟ้าผ่า” จาก “พายุฝนฟ้าคะนอง”นั้น ทาง สพฉ. ได้ให้แนวทางไว้ดังนี้คือ… 1.หาที่หลบที่ปลอดภัย หากเป็นช่วงที่อยู่ในที่โล่ง 2.หลีกเลี่ยงการหลบบริเวณใต้ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ได้ยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนา…เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ 3.หากหาที่หลบไม่ได้ ให้หมอบนั่งให้ร่างกายหรือลำตัวอยู่ต่ำที่สุด และ 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าทุกชนิด อาทิ เงิน ทอง นาค รวมถึง 5.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สายไฟหรือน้ำ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าที่อาจวิ่งเข้ามาทำอันตรายผ่านทางสายไฟหรือน้ำ

ข้อแนะนำถัดมา…ช่วงที่มี “ฟ้าผ่า” หรือมี “พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง” เกิดขึ้น กรณีอยู่ในบ้านหรือที่พัก สิ่งที่ควรต้องทำคือ ถอดปลั๊กไฟ สายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ถอดออกไว้ชั่วคราวในขณะที่เกิดฟ้าผ่าหรือเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง รวมถึง อย่าใช้โทรศัพท์ในขณะที่เกิดฟ้าผ่า โดยเฉพาะโทรศัพท์บ้าน เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่านั้นสามารถวิ่งมาตามสายจนทำอันตรายกับผู้ใช้งานได้ ขณะที่ กรณีอยู่ในรถยนต์ เมื่อเกิดฟ้าผ่า มีพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ จอดรถ โดยไม่นำรถไปจอดใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่สัมผัสโดนส่วนที่เป็นโลหะ ปิดหน้าต่างรถทุกบาน

เหล่านี้คือ “วิธีเลี่ยงภัย-กันภัยฟ้าผ่า”

และก็ย้ำไว้ด้วยถึง “วิธีช่วยผู้ถูกฟ้าผ่า”

ทั้งนี้ กรณีประสบเหตุมีผู้ถูกฟ้าผ่า กับแนวทาง “การช่วยชีวิตผู้ถูกฟ้าผ่าเบื้องต้น” นั้น มีคำแนะนำดังต่อไปนี้คือ… เริ่มจาก รีบโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และ ให้สังเกตที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงถูกฟ้าผ่าอีกหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ ก็ ควรเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัยก่อน เพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่าซ้ำ โดยเมื่อพบผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือสามารถจะแตะตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ เนื่องจากผู้ที่ถูกฟ้าผ่านั้นจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัวแล้ว ดังนั้น ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่า ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไฟฟ้าดูด

ในกรณีที่ “ผู้ถูกฟ้าผ่าหมดสติ” โดยสังเกตพบอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่… ริมผีปากมีสีเขียว สีหน้าซีดหรือเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมาก หรือไม่เคลื่อนไหวเลย และคลำชีพจรไม่พบ ในกรณีนี้ ต้องรีบช่วยเหลือด้วยการทำ CPR ทันที!! …เหล่านี้คือโดยสังเขปเกี่ยวกับ“ฟ้าผ่า” เกี่ยวกับ “วิธีเลี่ยงภัย” และเกี่ยวกับ “วิธีช่วยผู้ถูกฟ้าผ่า”…

ย้ำไว้…“ฟ้าผ่า-อสนีบาต-สายฟ้าฟาด”

แม้ “ไม่ได้สาบานให้ฟ้าผ่าก็เสี่ยงได้”

โดย “ร้อนจัด ๆ สายฟ้ายิ่งฟาดดุ!!”.