สังเกตดูระยะหลัง “นายชูวิทย์  กมลวิศิษฎ์” จอมแฉคนดัง ไม่คอยออกมาให้ความเห็นในประเด็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ไม่รู้ติดขัดด้วยข้อมูล หรือมีปัญหารุมเร้าหลายเรื่องอันที่จริงถ้ารับผิดชอบกับข้อมูลที่ออกมาเปิดเผย เมื่อผลตรวจสอบออกมาแล้ว ต้องกล้ารับผิดชอบ กับสิ่งที่เคยเผยแพร่ผ่านสาธารณชน

ก่อนหน้านั้น “นายชูวิทย์” เคยเดินทางไปเปิดการแสดงที่กระทรวงคมนาคม โดยอ้างว่าโครงการก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสาย
สีส้ม”
มีการล็อกสเปกในกระบวนกำหนด TOR รอบใหม่ หลังจากที่การประกวดราคาครั้งแรกถูกล้มไป และมีการปรับ TOR ใหม่ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เอกชนบางราย เข้าหลักเกณฑ์เพียงบริษัทเดียว พร้อมระบุว่า มีหลักฐานการทุจริต “ฮั้วประมูล” และมี เงินทอน 30,000 ล้านบาท

คุยโม้โอ้อวดถึงขั้นรู้ลึก มีการ โอนเข้าบัญชี HSBC ที่ประเทศสิงคโปร์  เรียกว่าเปิดเผยข้อมูลวันแรก ทำเอาสังคมข่าวฮือฮา  แต่ต่อมาพอสื่อถามหาหลักฐาน กระทรวงคมนาคมประสานขอข้อมูล ก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือ  ยิ่งมาถูกเปิดโปง เรื่องเงิน 6 ล้านบาท ปมเงินทอน 30,000 ล้านบาท   ก็ถูกเป่าหายไปในทันที

ยิ่ง ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้อง คดี “บีทีเอส” ฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กรณีมีมติเมื่อ 3 ก.พ. 64 ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้กระทำโดยสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ คงทำให้ นายชูวิทย์ไปไม่เป็น หาทางกลับบ้านไม่ถูก

ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอส” ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.

จากกรณีมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว

โดย ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มติของคณะกรรมการคัดเลือกตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 สามารถทำได้ เพราะการกระทำดังกล่าว ไม่เป็นการเอื้อต่อเอกชนรายใดเป็นการเฉพาะ ไม่ได้กระทำตามอำเภอใจ และผู้ถูกฟ้องทั้งสองดำเนินการโดยยึดเป้าประสงค์ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน 2562 จึงถือว่าเป็น การกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และชอบด้วยกฎหมาย

ครับ…ต้องย้ำว่า การยกเลิกคัดเลือกเอกชน ถือว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและชอบด้วยกฎหมาย  ถือเป็นการตบหน้าบรรดา คนที่ออกมากล่าวหา ให้ข้อมูลบิดเบือนว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง “นายชูวิทย์”  โดยเฉพาะภาพที่ไปเคลื่อนไหว หน้ากระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลระบุอีกว่า  การยกเลิกการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตกล่าช้า จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทน ทางการเงินของส่วนตะวันตก รวมถึงจะทำให้การให้บริการส่วนตะวันออกล่าช้า ส่งผล ให้มีค่าใช้จ่ายด้านงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่า เมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นทาง จะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คน ต่อเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าทำให้ผู้ใช้บริการเสียประโยชน์

น่าเสียดาย การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ตีกลับผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และในส่วนของ สัมปทานการเดินรถ 30 ปี ที่เสนอโดย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทน รมว.คมนาคม ผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรอผลการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องในชั้นศาล

ต้องถามว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับโครงการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น กับประชาชน การออกมาให้ข้อมูลโดยปราศจากความจริง  ใครสมควรต้องรับผิดชอบ.