เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะหรือเรามักเรียกกันว่า “เอไอ” กำลังอยู่ในกระแสตอนนี้ และกลายเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องการใช้งานว่าควรอยู่ในระดับไหน อย่างไร 

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เอไอ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างง่ายขึ้น งานที่เคยต้องใช้แรงคนและเวลามากมาย กลายเป็นงานที่สำเร็จได้ในเวลาอันสั้น และบางครั้งมันก็จะสามารถทำสิ่งที่คาดไม่ถึง ดังเช่นสิ่งที่ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่นค้นพบในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอซาการ่วมกันพัฒนาระบบเอไอเพื่อสร้างภาพโดยใช้ข้อมูลจากการสแกนสมองมนุษย์ โดยมี ยู ทาคางิ นักประสาทวิทยา และ ชินจิ นิชิโมโตะ ร่วมกันทำงานในโครงการ

ทั้งสองสร้างแบบจำลองโดยใช้ระบบอัลกอริทึมเอไอของสเตเบิล ดิฟฟิวชันจากเยอรมนี ซึ่งพัฒนาและเปิดตัวออกมาในปี 2565 เพื่อสร้างภาพด้วยการแปลงข้อมูลการทำงานของสมองคนที่อยู่ในเครื่องเอ็มอาร์ไอ 

ภาพที่ผู้เข้าร่วมทดลองเห็นก่อนเข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอ (แถวบน) และภาพที่ระบบเอไอสร้างจากข้อมูลการสแกนสมอง (แถวล่าง)

ปกติแล้ว สเตเบิล ดิฟฟิวชัน เป็นระบบเอไอที่แปลงคำพูดและวลีให้เป็นภาพในทำนองเดียวกับเอไอมิดเจอร์นีย์ ระบบนี้สะสมข้อมูลหรือ “ฝึกฝน” ด้วยการสแกนภาพต่าง ๆ พร้อมกับคำบรรยาย จากนั้นก็เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงจุดที่สอดคล้องกันระหว่างภาพและคำพูด 

ทาคางิ และทีมงานใช้การฝึกฝนตามรูปแบบของพวกเขากับแบบจำลองเอไอ 2 รูปแบบที่ต่างกัน โดยมีแบบจำลองหนึ่งคอยเชื่อมโยงรูปภาพทั่วไปกับภาพที่ได้จากการสแกนด้วยคลื่นเอ็มอาร์ไอ ส่วนแบบจำลองที่ 2 จะทำหน้าที่เชื่อมโยงภาพที่ได้จากการสแกนด้วยคลื่นเอ็มอาร์ไอเข้ากับคำบรรยายภาพและรูปภาพต่าง ๆ 

เทคโนโลยีของทีมงานของทาคางิพัฒนาขึ้น สามารถสร้างภาพแบบหยาบ ๆ ได้ถูกต้องราว 80% ของต้นแบบ โดยอาศัยแบบจำลองเอไอชุดแรกสร้างโครงร่างคร่าว ๆ ของภาพที่ผู้เข้าร่วมการทดลองในเครื่องเอ็มอาร์ไอได้เห็น จากนั้นก็ใช้แบบจำลองเอไอชุดที่ 2 ช่วยปรับแต่งและเพิ่มความชัดเจนของภาพ อาศัยรูปแบบคลื่นสมองที่สั่งสมไว้โดยเลือกใช้รูปแบบที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันได้

ภาพการเปรียบระหว่างภาพต้นฉบับ (แถวแรก) และภาพที่เอไอวาดจากข้อมูลการสแกนสมองของผู้ร่วมการทดลองแต่ละคน (แถวที่ 2, 3, 4, 5)

ทาคางิ นักวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์วัย 34 ปี เล่าว่า เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างที่เห็น กระนั้น เขาก็ย้ำว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการอ่านใจคนได้ เนื่องจากวิธีการของพวกเขาเป็นเพียงการสร้างภาพที่บุคคลที่โดนสแกนสมองเคยเห็นมาแล้วเท่านั้น

“น่าเสียดายว่ามีความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับงานวิจัยของเรา” ทาคางิ กล่าว “เราไม่สามารถถอดรหัสจินตนาการหรือความฝันได้ เราคิดว่าเป็นการมองในแง่ดีเกินไป แต่แน่นอนว่า มันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ในอนาคต”

แม้ว่าผลงานการวิจัยที่แปลกใหม่ในครั้งนี้จะสร้างความโดดเด่นให้ทีมงาน แต่ก็จุดชนวนความเป็นกังวลและการโต้แย้งเกี่ยวกับความสุ่มเสี่ยงต่อสังคม โดยเฉพาะในแง่ของการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล

ทาคางิ เองก็ตระหนักในความกังวลนี้ และมองว่ามีมูลเหตุอันควร เทคโนโลยีนี้อาจส่งผลเสียได้ หากมีผู้นำไปในใช้ด้วยเจตนาประสงค์ร้าย เขากล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ถ้าหากรัฐบาลหรือสถาบันใด ๆ สามารถนำเทคโนโลยีไปใช้อ่านใจผู้คนได้ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน จึงจำเป็นต้องมีการอภิปรายในระดับสูง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น

ทาคางิ และ นิชิโมโตะ ได้นำผลงานของพวกเขาลงตีพิมพ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ bioRxiv.org ซึ่งเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยด้านชีววิทยาจากนิวยอร์กเรียบร้อยแล้ว พวกเขายังมีแผนที่จะนำเสนอผลงานที่การประชุมใหญ่ประจำปีของ  Computer Vision and Pattern Recognition ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ด้วย

แหล่งข้อมูล : nextshark.com

เครดิตภาพ : Pixabay / Peace,love,happiness, Takagi and Nishimot