สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ว่ากระทรวงศึกษาธิการของจีนออกแถลงการณ์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าการจัดการสอบ "บ่อยครั้งเกินไป" เป็นการสร้างภาระและความกดดันที่มากเกินไปให้กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กอายุน้อย "ซึ่งมีแต่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายมากขึ้นเท่านั้น"
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลปักกิ่งมองว่า ระบบการศึกษาของประเทศ "จำเป็นต้องปฏิรูปครั้งใหญ่อีกครั้ง" นับจากนี้เป็นต้นไป ให้สถานศึกษายกเลิกการประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนอายุระหว่าง 6-7 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทางการจีนมองด้วยว่า ไม่เพียงแต่เป็นการลดแรงเสียดทานต่อเด็ก แต่ยังบรรเทาความเครียดให้กับผู้ปกครองได้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการของจีนยัง "กำหนดมาตรฐาน" การประเมินความรู้สำหรับนักเรียนในระดับชั้นสูงกว่านั้นของระบบการศึกษาภาคบังคับ "ต้องไม่เกิน 1 ครั้งต่อ 1 ภาคการศึกษา" โดยการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นยังสามารถมีการสอบกลางภาคและการสอบย่อยแบบอื่นได้ 
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ร่วมกับสภารัฐกิจ ซึ่งก็คือคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ประกาศว่า รัฐบาลปักกิ่งจะไม่รับการจดทะเบียนสถาบันการศึกษานอกระบบ หรือโรงเรียนกวดวิชาอีก     
โรงเรียนกวดวิชาซึ่งผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ต้องยื่นเอกสารขอจดทะเบียนใหม่เป็น "องค์กรไม่แสวงผลกำไร" แม้ยังดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และในช่วงปิดภาคเรียนได้อีก
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมองว่า โรงเรียนกวดวิชากลายเป็น "ธุรกิจแขนงหนึ่ง" และมีค่าใช้จ่ายสูง อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คู่สมรสรุ่นหลังในจีนไม่ประสงค์มีบุตร สวนทางกับการที่ภาครัฐกำลังเดินหน้าสนับสนุน ให้คู่สมรสในประเทศมีบุตรร่วมกันได้มากถึง 3 คน เพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากร.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES