จากคาดการณ์ของกระทรวงคมนาคม สงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 5.3% โจทย์การเดินทางที่สูงขึ้นนี้ มี “ความเสี่ยง” ใดควรระวัง และตักเตือนก่อนบ้าง “ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนวิเคราะห์ปัจจัยและมาตรการลดโอกาสสูญเสียกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ซึ่งแบ่งห้วง “ความเสี่ยง” สำคัญหลัก ๆ คือ ช่วงเดินทางและช่วงฉลอง

“ช่วงเดินทาง” ความเสี่ยงคือการที่คนทยอยออกต่างจังหวัด (กลับเร็ว) จึงใช้ความเร็วได้ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียจำนวนมากทั้งที่ยังไม่เข้าช่วงเทศกาล (7 วันอันตราย) เรียกว่าเป็นช่วงที่หลายคน “มองข้าม” ยกตัวอย่าง ปีใหม่ที่ผ่านมาก่อนเข้าสู่ 7 วันอันตราย ล่วงหน้า 3 วัน มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 178 ราย เนื่องจากช่วงดังกล่าวยังไม่มีระบบการจัดการเข้มข้นเหมือนช่วงเทศกาล แต่ปริมาณรถเยอะ

ดังนั้น ต้องย้ำว่าแม้ออกเดินทางเร็วก็ต้องระวัง ถนนโล่ง รถไม่ติดก็ต้องเข้มงวดเรื่อง “ความเร็ว” และต้องใช้ “อุปกรณ์นิรภัย” เพราะตัวเลขความสูญเสียบนถนนสายหลักชี้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วและไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย

ส่วน “ช่วงฉลอง” เป็นโจทย์หลักสงกรานต์ทุกปี และปีนี้จะยากขึ้นอีกเพราะไม่มีเงื่อนไขการเว้นระยะห่าง และไม่มีปัจจัยลดความเสี่ยง ประกอบกับใกล้ช่วงเลือกตั้ง อาจมีหัวคะแนนอาศัยจังหวะนี้แฝงตัวไปอัดฉีดร่วมเป็นเจ้าภาพ หรือจัดกิจกรรมรื่นเริงเข้มข้นขึ้น

นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า การฉลองเร็วและเข้มข้นขึ้น ตามปกติของสงกรานต์คนมักดื่มติดต่อกัน ลักษณะเล่นน้ำไป ดื่มไป เช้าจดค่ำ ลากยาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือความล้าสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงนั้นทันที หรือเกิดอุบัติเหตุช่วงเดินทางกลับจากอาการ “หลับใน” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบตลอด

ขณะที่ความเสี่ยงอื่น ๆ ยังมีที่ต้องระวัง โดยเฉพาะ “การเสียชีวิตใกล้บ้าน” ซึ่งข้อมูลสงกรานต์ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการดื่มขับที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต “เกินครึ่ง” เกิดในรัศมีใกล้บ้านไม่เกิน 5 กิโลเมตร จำนวนมากเป็นกลุ่มวัยทำงาน ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มองข้ามอุบัติเหตุใกล้บ้าน เพราะพฤติกรรมเคยชินจนไปลดการประเมิน ตรงข้ามกับการไปต่างพื้นที่ที่คนเรามักจะคอยสังเกตป้ายและระมัดระวังเป็นพิเศษ 

“พอทุกคนกลับบ้านจะไปอยู่ในโหมดลดความระวัง ไปใกล้บ้านจึงไม่สวมหมวกนิรภัย ขาดการประเมิน นี่จึงกลายเป็นโจทย์ว่าทำไมเกินครึ่งของผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตถึงเสียชีวิตใกล้บ้าน”

สำหรับมาตรการลดความเสี่ยง ในมุมประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่าดื่มขับมีความเสี่ยงแต่ก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ตามหลักการมองว่าหากสามารถเชื่อมโยงความรับผิดชอบผู้เกี่ยวข้องได้จะเป็นมาตรการที่ดี ซึ่งปัจจุบันยังไปไม่ถึง ทำได้แค่มาตรการเชิงรุกในรูปแบบตักเตือน และขอความร่วมมือ

นพ.ธนะพงศ์ แนะหากต้องการเชื่อมโยงความรับผิดชอบ อาจต้องนำกฎหมายเกี่ยวข้องมาบังคับใช้ เช่น หากเกิดเหตุเสียชีวิตเพราะเมาขับ กรณีเป็นเด็กและเยาวชน พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบที่ปล่อยปละให้เด็กขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ และดื่มขับ ประเด็นนี้อาจเป็น “ดราม่า” เชิงสังคม เพราะข้อเท็จจริงสังคมไทยยังไม่ตระหนักว่าต้องเป็นอุทาหรณ์ของสังคม แต่จะได้ผลระยะยาว เพราะคนจะเริ่มเรียนรู้ว่าหากปล่อยปละละเลย พ่อ แม่ ผู้ปกครองอาจถูกดำเนินคดีด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพราะเห็นว่าสูญเสียแล้ว

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ ที่มีการปรับเพิ่มความเข้นข้นคดีเมาขับ กรณีกระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี ต้องมีบทลงโทษจำคุกด้วยเสมอ แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องฐานข้อมูลตรวจสอบการกระทำผิดซ้ำเพื่อให้สอดรับกฎหมายใหม่และบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการตัดแต้มค้างชำระใบสั่ง ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 66 

สงกรานต์นี้อาจเป็นโจทย์ท้าทายจุดเริ่มต้นจริงจังกับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างวินัยและลดปัจจัยเสี่ยงบนท้องถนนให้ได้ผลจริง ๆ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]