โดยงานนี้ มีคนการเมือง-พรรคการเมือง ร่วมลงสมัครสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก ทั้งการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จาก 400 ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 4,400 คน การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวนมากกว่า 1,700 คน โดยมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า 45 คน
ไฮไลต์สำคัญนอกจากตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว ก็หนีไม่พ้นหมายเลขที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เนื่องจากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาแบบบัตร 2 ใบ โดยบัตรใบที่ 1 เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรใบที่ 2 เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะมีหมายเลขที่แตกต่างกัน จุดสนใจจึงอยู่ที่หมายเลขพรรคการเมือง ที่ใช้ในการเอกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไล่ตั้งแต่ พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 7 พรรคชาติพัฒนากล้า เบอร์ 14 พรรคชาติไทยพัฒนาเบอร์ 18 พรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22 พรรคเสรีรวมไทย เบอร์ 25 พรรคประชาธิปัตย์เบอร์ 26 พรรคเพื่อไทย เบอร์ 29 พรรคก้าวไกล เบอร์ 31 พรรคพลังประชารัฐเบอร์ 37 เป็นต้น
แต่สิ่งที่สวนทางกับความคึกคักทางการเมือง ก็เห็นจะเป็นการหลบเลี่ยงเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ทางการเมือง ของ “พี่น้อง 2 ป.” ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างก็ไม่ร่วมเวทีดีเบต โดยส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแทน แม้จะมองได้ว่าถือเป็นธรรมชาติของ “บิ๊กท็อปบู๊ต” ที่ชอบสื่อสารทางเดียว ตามสไตล์ของทหาร
แต่เมื่อเลือกที่จะก้าวลงมา “คลุกฝุ่นการเมือง” แล้ว การไม่ร่วมดีเบตก็อาจจะถูกมองเป็นจุดด้อยว่าไม่ได้รับฟังความเห็นในเวทีประชาธิปไตยที่แท้จริง
ปรับโฟกัสมาที่สนามเลือกตั้ง เมื่อสแกนบัญชีรายชื่อ และบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรค ก็จะได้เห็นถึงความพร้อมและความท้าทายในศึกเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ 2 คน โดย “บิ๊กตู่” เลือกที่จะวางทายาทการเมือง เป็น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รับไม้ต่อในตำแหน่งนายกฯ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า “บิ๊กตู่” เหลือวาระในการดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่อีกเพียง 2 ปี จึงต้องวางคนไว้รับช่วงอำนาจต่อ แต่อีกนัยหนึ่ง เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” เป็นเรื่องที่จะต้องจับตาให้ดี ว่าจะเกิด “อภินิหารทางกฎหมาย” อะไรหรือไม่ เพราะก่อนหนานี้มี ส.ว.บางกลุ่ม ออกมาจุดประเด็นว่าถ้ามีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญอาจจะมีการปลดล็อคเรื่องวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น….เพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งเลือกตั้งอย่าเพิ่งคิดไปไกล! เพราะกว่าจะไปถึงจุดนั้น “บิ๊กตู่” และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ต้องเอาก้าวแรกในการเลือกตั้งให้รอดก่อน เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลในหลาย ๆ ด้าน ไม่ได้มีผลงานเข้าตาประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่แทบจะสอบตก ซึ่งก็ทำให้ประชาชนหาเหตุผลได้ยากขึ้นในการจะเลือก “บิ๊กตู่” กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯอีกครั้ง
สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค มีแกนนำพรรค เคยออกมาคาดการณ์ไว้ว่า เซฟโซน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะอยู่ในช่วง 15 ลำดับแรก โดยคำนวณจากผลการเลือกตั้งปี 2562 ที่ “บิ๊กตู่” เคยดึงคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตให้กับพรรคพลังประชารัฐกว่า 8 ล้านเสียง วันนี้คะแนนอาจหายไปบ้างเพราะมีการแตกไปหลายพรรคก็น่าจะอยู่ที่ 6 ล้านเสียง อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อราวๆ 15 คน แต่เซฟโซนที่จะส่งให้ “บิ๊กตู่” ไปถึงฝั่งฝันการนั่งตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องมี ส.ส. อยู่ในมือ ไม่ต่ำกว่า 25 คน
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยังต้องลุ้นระทึกของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการกวาด ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้ 25 คนตามเกณฑ์ เพราะหากดูจากผลโพลจากสำนักต่าง ๆ แล้ว คงต้องลุ้นกันแบบ “หืดขึ้นคอ” กันเลยทีเดียว
ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ มีการคาดการณ์จากเลขาธิการพรรค ว่า เซฟโซน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถือเป็นลำดับปลอดภัย คือ 20 ลำดับแรก ซึ่งเมื่อพลิกดูไส้ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐก็พบว่า ยังคงติดโตวตา “กลุ่มบ้านใหญ่” ทั้ง “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” “บ้านใหญ่อัศวเหม” ตลอดจน “บ้านใหญ่สิงห์บุรี” ซึ่งงานนี้ดูไปแล้วก็เหมือนเป็นการใช้ฐานบารมีของบ้านใหญ่กลุ่มต่างๆ รวมทั้งกระแสและกระสุน ช่วยให้พรรคเอาตัวรอดไปได้ในการเลือกตั้งไปได้
นอกจากนั้น “บิ๊กป้อม” ยังมีการวางเกมไกล ไม่ว่าเสียง ส.ส.หลังการเลือกตั้งจะได้เท่าไหร่ แต่มีการวางเกมดีลในการเป็นพรรคในกลุ่มที่จะจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวเปิดดีลลับเตรียมจับมือจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่เริ่มสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนฟากฝั่ง พรรคภูมิใจไทย ดูจะเป็นระเบียบมากที่สุด โดยมีการวาง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ตามติดด้วย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งเรียกได้ว่าไรปัญหาในการจัดโผบัญชีรายชื่อ และยังคงรักษาฐานเสียง “กลุ่มบ้านใหญ่” ไว้อย่างเหนียวแน่น สังเกตได้จากกรณีของ “บ้านใหญ่ปราจีนบุรี” ที่ถึงแม้ กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ จะหมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีโควตาให้กับ ปวรรณ ศรีจันทร์งาม ลูกชาย ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน โดยงานนี้มีการตั้งเป้าเซฟโซน ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ที่ 10-15 ลำดับแรก
แม้ภายในพรรคจะดูสงบ แต่ภายนอกพรรคกลับร้อนฉ่า จากการเคลื่อนไหวของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่เดินหน้าถล่มพรคภูมิใจไทย และนโยบายกัญชาเสรี แถมยังมีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ที่ด้านหน้า อาคารไอราวัฒพัฒนา ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และยื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการรับสมัครวันแรก โดยใช้ไม้กวาดปัดกวาดพื้น ต่อต้านการซื้อตัว ส.ส.งูเห่า และนโยบายกัญชาเสรี งานนี้ก็เรียกได้ว่า “อะไรก็หยุดชูวิทย์ไม่ได้”
ขยับมาที่ พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะชุลมุนจาก “ศึกนางพญา” แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยดี โดยมีการจัดอันดับ จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 10 อยู่ก่อน “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่อยู่ในลำดับที่ 11 ขณะที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และ “คีย์แมนคนสำคัญ” ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่พลิกบทบาทเป็นคนวางเกมเปิดดีลการเมืองหลังการเลือกตั้ง เพราะสามารถดีลได้ทั้ง 2 ขั้ว และที่สำคัญเคยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการดีลกันระหว่างพรรคภูมิใจไทยตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้ว ที่ “เฉลิมชัย” จับมือ “ศักดิ์สยาม” ตั้งกลุ่มอำนาจต่อรองร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พรรคพลังประชารัฐ ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้ว
ส่วน พรรคก้าวไกล ที่นำทัพโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ยังคงมี “ดีเอ็นเอเลือดสีส้ม” โดยเน้นดันคนรุ่นใหม่ เดินหน้าอุดมการณ์เข้มข้น พุ่งเป้าเพื่อเปลี่ยนประเทศ ซึ่งกลายเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นได้จากผลโพลหลายสำนัก ที่ในระยะหลังพรรคก้าวไกล มีเรตติ้งพุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าจับต่อมองกันต่อไป ด้วยหลายนโยบายถูกมองว่าเป็น “นโยบายทะลุฟ้า” ดังนั้นหากในการเลือกตั้งไม่สามารถกวาด ส.ส.ได้แบบถล่มทลายแล้ว โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลก็คงเป็นเรื่องยาก
ปิดท้ายกันด้วย “พรรคเพื่อไทย” ที่วางยุทธศาสตร์ชัดเจน โดยวางคนที่จะรับตำแหน่งในฝ่ายบริหารในกรณีได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ให้อยู่ในลำดับท้ายของบัญชีรายชื่อ อย่าง “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ลำดับที่ 98 หรือ ภูมิธรรม เวชยชัย ลำดับที่ 100 ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดทางดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอยู่ในพื้นที่เซฟโซนแถวหน้ามากยิ่งขึ้น
แต่ที่น่าจับตาคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 22 ที่ปรากฏรายชื่อ ประวีณ์นุช อินทปัญญา ภรรยาของ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา กรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อนสนิท “บิ๊กป้อม” ที่กระโดดข้ามขั้วมาลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่เซฟโซน จนถูกมองว่าเป็นเค้าลางยืนยันถึงการดีลลับระหว่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ในการจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง!
นอกจากนั้นยังมีการเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ของพรรค แม้จะไม่ได้รับเสียงฮือฮาเท่าแคนดิเดตนายกฯ 2 คนแรก อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน แต่เมื่อไปพลิกดูนโยบายเศรษฐกิจ-ปากท้องล่าสุด ก็อาจช่วยเรียกเรตติ้งได้ไม่น้อย เพราะเรียกได้ว่า “แจกแบบเทกระจาด” จากการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงินกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับประชาชนที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ได้ใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันได้จากร้านค้าในชุมชนให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เงินหมุนเวียน ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต
ท้ายที่สุดแล้ว…เมื่อสังเวียนเดือดเริ่มนับหนึ่งขึ้น คิวต่อไปคงจะเป็นหน้าที่ของบรรดา “นักร้อง (เรียน)” ที่ต่างฝ่ายต่างจ้องจับผิดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็จะส่งผลให้คดีร้อนในช่วงเลือกตั้ง กองเต็มหน้าตัด กกต. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การบ้านของ กกต. ในฐานะคนคุมกติกาเลือกตั้งคงจะต้องเตรียมการตั้งรับให้ดี และจะต้องดำรงความเป็นธรรมและเป็นกลาง เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุด.