…เป็น “เสียงสะท้อน” ของ รศ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร หนึ่งในทีมวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน” ที่ได้วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้ หลังจากผลการศึกษาพบว่า… “อุปสงค์-อุปทาน” ของ “การเมืองไทย” ในช่วงที่ผ่าน ๆ มานั้น…

“มีผลถึงปฏิรูปการศึกษาประเทศไทย”

ทำให้ระบบการศึกษา “เดินไม่ถูกทิศ?”

ที่ “ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาไทย”

เกี่ยวกับการศึกษาตามโครงการนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างทีมวิจัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมี รศ.วีระยุทธ จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้คือเพื่อ ศึกษาถึง “อุปสรรค-กลไก” ที่ทำให้ “การพัฒนาระบบการศึกษาทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร” ทั้ง ๆ ที่กว่า 10% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีถูกจัดสรรให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา แต่การปฏิรูปเรื่องนี้กลับ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอดระยะกว่า 30 ปี ยังไม่เป็นไปดังที่มีการคาดหวัง

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ถึงอุปสรรคในเรื่องนี้ ทาง รศ.วีระยุทธ ได้สะท้อนผ่านทาง เว็บไซต์ กสศ. ไว้ว่า… ในระดับครอบครัวไทยนั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนเชื่อว่า…การศึกษาจะทำให้สถานะครอบครัวดีขึ้น ส่วนระดับประเทศก็เชื่อว่า…ที่ประเทศไทยไม่พัฒนาก็เป็นเพราะการศึกษา จึง มีความพยายามปฏิรูปเรื่องนี้ในหลายระลอก แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นผล จนไม่มีใครกล้าพูดว่า…ไทยปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ เพราะแม้แต่คนที่ทำงานปฏิรูปเองก็ยอมรับถึงปัญหาและความล้มเหลว ดังนั้น เพื่อจะค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเกิดโครงการวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อที่จะทำความเข้าใจปัญหานี้

นักวิจัยท่านเดิมระบุไว้อีกว่า… โจทย์งานวิจัยนี้ไม่ได้อยู่ที่การค้นหาว่า…นโยบายที่ดีคืออะไร? เพราะคนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่านโยบายที่ดีมีอะไรบ้าง ดังนั้นจึง จะต้องมีอะไรมากกว่าเรื่องนโยบายดีหรือไม่ดี ทำให้การศึกษานี้จึง “ใช้มุมมองแบบเศรษฐศาสตร์สถาบัน” มาประเมิน โดยแบ่งการมองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปัจจัยทางสถาบัน (Institutions) เช่น พวกกฎระเบียบและค่านิยมต่าง ๆ 2.ปัจจัยด้านผลประโยชน์ (Interests) ที่เป็นกลุ่มที่สนับสนุนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มครู โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และ 3.ปัจจัยด้านคุณค่า (Ideas) ที่หมายถึงคุณค่า หรือเรื่องเล่าบางอย่างที่มาพร้อมการปฏิรูปการศึกษาแต่ละยุค เช่น คำว่าเด็กเป็นศูนย์กลาง คำว่าเก่งดีมีสุข ซึ่งการนำมุมมองแบบนี้มาใช้ประเมินก็เพื่อ…

ค้นหาว่า…อะไรเป็นตัวขัดขวางสำคัญ?

ทำให้ระบบการศึกษาไม่เป็นไปดังหวัง

และเพื่อให้เห็นภาพในการ “ใช้เศรษฐศาสตร์สถาบันเป็นเครื่องมือวิเคราะห์” ทาง รศ.วีระยุทธ ก็ได้มีการยกตัวอย่างเพื่อที่จะฉายให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยได้ระบุไว้ว่า… เวลาจะข้ามถนน ทุกประเทศมีองค์ประกอบกายภาพเหมือนกันทุกอย่าง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พฤติกรรมคนในแต่ละสังคมกลับไม่เหมือนกันเลย อย่างญี่ปุ่น คนข้ามถนนสามารถใส่หูฟัง เดินร้องเพลง แล้วรอดูแค่สัญญาณไฟเท่านั้น ไม่ต้องดูอย่างอื่นเลย เพราะคนขับรถก็เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากเป็นเมืองไทย คนข้ามถนนต้องระวังตัวเอง ต้องมีสติ ต้องมีสมาธิทุกครั้งที่ต้องข้ามถนน …นี่เป็น “ข้อเปรียบเทียบ” ที่ถูกยกขึ้นมาฉายภาพ

“ตัวอย่างที่หยิบขึ้นมาเปรียบเทียบนี้สะท้อนว่า ภายใต้องค์ประกอบกายภาพที่เหมือนกัน แต่ก็ยังมีอะไรที่ซ่อนอยู่ ที่ทำให้พฤติกรรมในทางปฏิบัติแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เศรษฐศาสตร์สถาบันจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นปัจจัยเบื้องหลังที่พฤติกรรมคนกลับต่างกันแม้มีองค์ประกอบกายภาพเหมือนกัน” …รศ.วีระยุทธ อธิบายไว้

ขณะที่ “มุมมองของการเมืองไทย” ก็เป็นอีกหนึ่ง “อุปสรรค” เช่นกัน เนื่องจากถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการนั้น จะได้รับงบประมาณไม่น้อย แต่นักการเมืองไทยก็มองว่า…ไม่ใช่กระทรวงเกรดเอ ที่เป็นเป้าหมายเหมือนกระทรวงอื่น ๆ ทำให้ส่งผลต่อเชิงขับเคลื่อนนโยบาย และอีกหนึ่งอุปสรรคที่ก็เป็นปัญหาเช่นกัน นั่นคือ “การใช้งบประมาณ” ที่ทางนักวิจัยท่านเดิมก็ได้สะท้อนไว้ว่า…แม้งบประมาณการศึกษาที่หน่วยงานได้รับจะไม่น้อย แต่งบประมาณดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ มากกว่านำไปใช้ในเชิงนโยบาย โดยถูกนำไปใช้กับงบบุคลากรและเงินอุดหนุน จนเหลืองบทางนโยบายน้อยมาก…

“ทั้งอุปสรรคจากพื้นที่งบประมาณน้อย ปัญหาทุจริตคาราคาซัง รวมกับการมีอำนาจต่อเครือข่ายครู มันส่งผลทางการเมืองลดลง เมื่อนำทั้งหมดทั้งปวงรวมกัน ก็เลยทำให้นักการเมืองไม่ได้มองกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงสำคัญอย่างในอุดมคติที่สังคมคาดหวังไว้” …นี่เป็น “ภาพกว้างของปัญหา” ที่ รศ.วีระยุทธ ได้สะท้อนไว้

แล้ว…“สังคมไทยจะผลักดันอย่างไร??”

เพื่อ “ให้การศึกษาไทยเป็นดังคาดหวัง”

“มีข้อเสนอแนะ” มาดูกันต่อตอนหน้า…