เมื่อวันที่ 4 เม.ย. จากกรณีตำรวจ ปปป. จับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง สำนักงานเขตราชเทวี เรียกรับผลประโยชน์ 3.2 ล้าน แลกไม่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน 4 ล้านบาท ความคืบหน้าเรื่องนี้ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตต่างๆ สำนักต่างๆ มีหน้าที่ให้บริการประชาชน ทั้งในเรื่องของการออกใบอนุญาต หรือการประเมินภาษี หรือในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แล้วก็ยังมีงานอื่นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับพี่น้องประชาชนโดยตรง
ดังนั้น หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กทม.จะเป็นเรื่องของการให้บริการ แต่ถ้าหากใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองในทางที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่นในลักษณะแบบนี้เป็นต้น หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นในลักษณะของผู้ที่มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาต ใช้ความล่าช้า ใช้เวลาในการพิจารณาออกใบอนุญาต เป็นอาวุธ จนทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ สิ่งเหล่านี้ได้รับร้องเรียนมาโดยตลอด
งามไส้! ซ้อนแผนรวบ ‘จนท.ระดับสูงเขตราชเทวี’ เรียกรับ 3.2 ล้าน แลกไม่ต้องจ่ายภาษี
ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความกังวลจึงได้มีการแจ้งไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าจะจัดทำ workshop ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงานนี้ รวมถึงอยากให้ประชาชนแจ้งเบาะแส เข้าไปยังหน่วยงานที่คิดว่ามีความไว้วางใจที่จะให้ข้อมูล อย่างเดียวกับที่ทางปปท.ได้รับข้อมูลในวันนี้ เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของ กทม.ที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบแม้แต่ในเรื่องของการไม่อนุญาต โดยการเอาเวลามาเป็นตัวทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถแจ้งได้ กทม.พร้อมที่จะประสานงานโดยตรงกับทุกหน่วยเพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมานานเป็นวัฒนธรรมประจำตัว ไม่ใช่ขององค์กร แต่เป็นประจำตัวของเจ้าหน้าที่แต่ละคน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้าน นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมมือกันกำจัดเนื้อร้ายของกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวย้ำมาโดยตลอด ว่าถ้าเป็นเรื่องทุจริตจะไม่ทนที่จะให้เกิดการทุจริตขึ้นในหน่วยงานของ กทม. และเคสนี้เป็นเคสที่น่ากังวล เพราะผู้ที่ถูกจับกุมเป็นระดับบริหารของสำนักงานเขต ซึ่งต้องมีหน้าที่ดูแลกิจการสาธารณะและบริการประชาชน แต่ว่ากลับมาใช้อำนาจหน้าที่ในการทุจริตเสียเอง ถือว่าเคสนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้ทราบว่า ต่อไปนี้ในส่วนของ กทม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้าราชการลูกจ้างจำนวนกว่า 100,000 คน คงจะต้องตรวจตราดูแลให้รัดกุม และผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นต้องตรวจดูให้แน่นอน ในส่วนของคดีอาญาทางหน่วยงานที่จับกุมก็คงต้องดำเนินการตามขั้นตอน
ส่วนการดำเนินการทางด้านวินัย ทราบว่าในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) ปลัดกรุงเทพมหานคร จะมีคำสั่งย้ายให้ผู้ที่ถูกจับกุมในวันนี้เข้าไปอยู่ในสำนักงานปลัดฯ และพักราชการ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.กทม.) จะสามารถดำเนินการได้ภายใน 120 วัน และหากต้องใช้เวลาในการดำเนินการสอบสวนต่อก็อาจจะต้องให้ออกจากราชการไว้ก่อน และก็จะเดินดำเนินการในขั้นตอนแบบนี้ กับทุกราย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนกรณีของฝ่ายรายได้ เขตสวนหลวง, ผอ.โรงเรียนเขตบางชันก็ตาม
นายเฉลิมพล กล่าวต่ออีกว่า กทม.ได้ร่วมมือกับ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศปท.) มาโดยตลอด พร้อมกับได้มีการพูดคุยกับทาง ป.ป.ท. /ปปง. ซึ่งจะมีเคสที่จะร่วมกันดำเนินการอีกหลายเคส อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีผู้ที่ถูกจับในครั้งนี้ ทางที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทราบเรื่องราวมาเป็นระยะและมีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จึงขอเตือนไปยังข้าราชการลูกจ้างของ กทม.ทุกคนว่า ขอให้เป็นข้าราชการลูกจ้างที่ดี อย่ามีพฤติการณ์ทุจริต.