และมาถึงวันนี้ก็ มีคนไทยป่วยเพราะฝุ่นพิษแล้วจำนวนมาก!! โดยที่ปัญหานี้ลึก ๆ แล้ว “ยึดโยงปัญหาอื่นด้วย” ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…

“ฝุ่นพิษ” นั้น “ยิ่งตอกย้ำใน 3 ปัญหา!!”

ในม่านฝุ่น “แฝงไว้ด้วยความเหลื่อมล้ำ”

ทั้งนี้ กับกรณี “ปัญหาฝุ่นพิษยึดโยงปัญหาอื่น ๆ” ด้วยนั้น…กรณีนี้ทาง วรเทพ พูลสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการสะท้อนไว้ผ่านบทความ “ฝุ่นพิษภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ที่มีการเผยแพร่ผ่านทาง เว็บไซต์เดอะประชากร.คอม ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกวิกฤติที่ผู้คนในสังคมไทยยังคงต้องเผชิญ กลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนักที่สุด มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และเป็นประเด็นทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ”

“ปัญหาฝุ่นแม้จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้กับคนไทยทุกกลุ่ม แต่ที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถปกป้องหรือป้องกันตัวเองจากวิกฤติฝุ่นได้ดีเท่ากับกลุ่มอื่น โดยพิจารณาจากบริบททางด้านอาชีพ ที่ทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ” …ในบทความดังกล่าวระบุไว้

และมีการขยายความมิตินี้ไว้ว่า… เมื่อพิจารณาจากบริบทด้านอาชีพของกลุ่มประชากรผู้มีรายได้น้อย พบว่า…คนกลุ่มนี้ล้วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านสุขภาพ เนื่องจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพของคนกลุ่มนี้ ที่มักจะต้องอยู่กลางแจ้ง ทำให้มีโอกาสที่จะต้องรับฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายปริมาณมาก จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานในตึกหรืออาคารที่เป็นระบบปิด นอกจากนั้น ยัง เกิดปัญหาจากการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน รวมถึง มีปัญหาจากการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพดี อันเนื่องจากรายได้ที่น้อย

นี่เป็น “ปัญหาเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ”

ขณะที่มิติ “ความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม” ทางนักวิชาการท่านดังกล่าวได้มีการสะท้อนไว้ว่า… ปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 นี้ยังฉายภาพให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ในด้านนี้ด้วย เนื่องจาก พื้นที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีอากาศที่บริสุทธิ์ และเป็นมิตรต่อสุขภาพ มีมูลค่าและราคาที่ต้องจ่ายสูง ดังนั้น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงไม่อาจเข้าถึงได้ ทั้งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งผู้คนในสังคมควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม …นี่ก็ปัญหา “เหลื่อมล้ำ” อีกมิติ

เป็น “ปัญหาเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อม”

นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้อีกว่า… ภายใต้บริบทสังคมโลกและสังคมไทยปัจจุบัน ที่เมืองต่าง ๆ มีการขยายตัวสูงและรวดเร็ว แม้ภาครัฐจะพยายามมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่สภาพความเป็นจริงก็ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้เท่าทันสภาพแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญหลายนโยบายก็ยังมีความขัดแย้งและสวนทางกับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากมีการสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจของเมือง โดยสะท้อนจากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งย่อมส่งผลต่อพื้นที่สีเขียว ลดพื้นที่สีเขียว ที่อาจ มีนัยสำคัญต่อกรณีปัญหาฝุ่นที่รุนแรงมากขึ้น

“จุดร่วมที่มีเหมือนกันของประชากรทุกกลุ่มก็คือ ทุกกลุ่มมองเรื่องนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่การลดความเสี่ยงนั้นไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกันทุกกลุ่ม อันมาจากฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน ซึ่งกลุ่มคนที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าจะเผชิญผลกระทบมากกว่า ซึ่งถ้าหากไม่มีมาตรการมารองรับช่วยเหลือแล้ว ผลกระทบอาจจะยิ่งมากขึ้นจนวกกลับมากระทบกับสังคมโดยรวม…”…ทางนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมท่านดังกล่าวข้างต้นระบุไว้

ทั้งนี้ ข้อมูลที่แจกแจงมานี้สอดคล้องกับอีกมิติที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูลไว้เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2564 ที่มีเวทีเสวนาหัวข้อ “มลพิษอากาศ : ปัจจัยกำหนดสุขภาพผ่านโครงสร้างทางสังคม” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นข้อมูลที่นำเสนอไว้โดย ผศ.ดร.ณัฏฐา ฐานีพานิชสกุล นักวิชาการ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โดยสรุปนั้นมีว่า… “ความแตกต่างทางโครงสร้างของสังคมไทย” นั้น… “ส่งผลต่อการเพิ่ม หรือลด โอกาสรับสัมผัสมลพิษ” เช่น ฐานะ คุณภาพที่อยู่อาศัย พื้นที่อยู่อาศัย การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว

“พูดถึงโครงสร้างทางสังคม ประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้คือ… ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะเป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นดัชนีชี้วัดว่า…มีโอกาสจะสัมผัสมลพิษมากน้อยอย่างไร” และ “สามารถรับมือมลพิษได้มากน้อยแค่ไหน” ถ้าการปกป้องตนเองจาก “ฝุ่น PM 2.5” คือต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้เครื่องฟอกอากาศ กลุ่มคนรายได้น้อยมักไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากที่มีคุณภาพ หรือไม่สามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศได้ …ทั้งนี้ ทางนักวิชาการท่านนี้ยังได้ระบุไว้ด้วยว่า…

“ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ไม่มีทางหมดลงได้ในแค่หนึ่งชั่วอายุคน แต่จะยังเป็นปัญหาที่วนกลับมาเป็นวัฏจักรซ้ำซาก รัฐและสังคมต้องเร่งแก้ไข ไม่เช่นนั้นวัฏจักรนี้อาจกลายเป็นปัญหาที่ไม่มีวันแก้ไขได้ตลอดไป…

รวมถึงทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ในสังคม…

เกิดตามมามากมายอีกด้วย!!!”.