“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย สะท้อนต่อเนื่องถึงนโยบายหรือแนวทางที่น่าจะเริ่มต้นผลักดันจริงจังมากขึ้นได้ จากการเลือกตั้งครั้งนี้
นโยบายแตกต่างในปัจจุบัน จำเป็นกับอนาคต
นายกสมาคมวิศวกรฯ กล่าวถึง ประเด็นการก่อสร้างในประเทศไทยซึ่งมีโครงการกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม มีการก่อสร้างถนน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการก่อสร้างเขื่อน เฉพาะกระทรวงคมนาคม มีงบประมาณเกี่ยวกับการก่อสร้างปี 2565 ราวแสนล้านบาท และหากรวมทุกกระทรวงจะมีจำนวนมหาศาล
ดังนั้น สิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือ การประมูลงาน การเสนอราคาและประเด็นการก่อสร้างที่เมื่อดำเนินการไปแล้วจะมีงานเพิ่ม-งานลด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิด “มูลค่า” งาน กลายเป็นโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่น หรือโอกาสที่คิดว่างานเกินกว่าเหตุ หรือพูดง่าย ๆ คือไม่มีความโปร่งใสในระบบ และอยากให้รัฐบาลเข้ามาจัดการระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดความสูญเสียของงบประมาณ และลดการคอร์รัปชั่น
“ดิจิทัล”สร้างแบบ เพิ่มแม่นยำ สกัดคอร์รัปชั่น
พร้อมระบุ ขณะนี้ในงานวิศวกรรมมีระบบที่เรียกว่า BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นการทำแบบก่อสร้างในระบบ 3 มิติ ผ่านการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเดิมจะใช้ระบบ AutoCAD (Computer Aided Design) ซึ่งเป็น 2 มิติ โดยแบบจะเป็นลายเส้น ทำให้ดูยาก ว่าจะต้องใช้ก๊อกน้ำกี่ตัว ต้องใช้เหล็กกี่เส้น
“การก่อสร้างโดยใช้ระบบ BIM มาช่วยในการออกแบบก่อสร้าง จะไม่ใช่การเห็นแค่ “เส้น” เหมือนในอดีต แต่จะเห็นเป็นภาพ 3 มิติขึ้นมา แล้วก็สามารถใส่ก๊อกน้ำเข้าไป ใส่หลอดไฟ ใส่ท่อประปา ใส่สุขภัณฑ์ ใส่กระเบื้อง ข้อดีคือจะเห็นภาพทุกอย่าง ทำให้สามารถถอดแบบออกมาเป็นปริมาณได้เลยว่า มีคอนกรีตกี่คิว มีเหล็กกี่ตัน มีก๊อกน้ำกี่ตัว มีสุขภัณฑ์กี่ชิ้น”
นายกสมาคมวิศวกรฯ มองว่า หากรัฐบาลใช้ระบบนี้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะทำให้มีตัวเลขชัดเจน หลอกไม่ได้ว่าในระบบมีกี่ชิ้นส่วนและจำนวนเท่าไหร่ เมื่อรัฐบาลบอกว่าอยากผลักดันดิจิทัล คอนสตรัคชั่น (Digital Construction) ก็ควรนำระบบที่เป็นดิจิทัลเข้ามา ตั้งแต่เรื่องของการสร้างแบบ ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยป้องกันการคอร์รัปชั่น ลดการสูญเสียจากการก่อสร้างงานได้
บางครั้งอาจเคยเห็นว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเสาดันไปปักอยู่หน้าบ้านของชาวบ้าน เกะกะขวางทาง แต่ถ้าหากใช้ระบบนี้ขึ้นมาจะสามารถเห็นจากการ “จำลอง” ได้เลยว่าตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความเหมาะสมหรือไม่ จะไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ คนจะเดินผ่านได้หรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่า ระบบจะนำไปสู่การการจำลองสถานการณ์ (Simulation) เช่น
หากเกิดเพลิงไหม้คนจะวิ่งไปทางไหน ระบบนี้จะสามารถใช้ได้กับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่าง และรัฐบาลควรส่งนำระบบนี้ไปใช้กับเมืองด้วยซ้ำ ซึ่งภาคเอกชนได้ริเริ่มนำมาใช้แล้ว เช่น สร้างคอนโดฯ
“ผมอยากผลักดันให้รัฐบาลนำเอาระบบ BIM เข้ามาเป็น “พิมพ์เขียว” หรือเป็นกระดูกสันหลังของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยผ่านทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมือง เพราะมีอำนาจใจการกำกับด้าน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522”
ปูความแข็งแกร่งพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่ทรัพยากรบุคคล
นายกสมาคมวิศวกรฯ มองถึงความสำคัญที่ต้องมี Human resources หรือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ได้รับการศึกษาที่ดี ต้องมีกระบวนการที่บุคคลเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ช่างเทคนิค โฟร์แมน ตลอดจนคนงาน ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ (Upskill) หากมีกฎหมายอย่างเดียว บางทีก็ไม่ได้มีการบังคับใช้ และการที่กฏหมายไม่ได้บังคับใช้ก็เพราะคนไม่มีความรู้ที่จะทำ ซึ่งเป็นเรื่องการจัดการเกี่ยวกับคน
ดังนั้น อยากเสนอให้รัฐบาลออกเป็นกฎเกณฑ์เลยว่าในแต่ละปี แต่ละบริษัท จะต้องมีการส่งเสริมด้านการฝึกอบรม (Training) ความรู้ในงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละส่วน เช่น วิศวกรจะต้องรู้เรื่องอะไร ช่างเทคนิคจะต้องรู้เรื่องอะไร เป็นต้น จากนั้นรัฐบาลควรให้บริษัทที่ดำเนินการฝึกอบรมคนให้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เหล่านั้น สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากจัดฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้
“การฝึกอบรมคนให้มีความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญ คนมีความพร้อม กฎมันไปด้วยกันได้”
ทั้งนี้ ควรสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบวิชาชีพที่อยู่หน้างาน นอกจากตัวผู้ประกอบวิชาชีพแล้ว ผู้ควบคุม (Regulator) ต้องกวดขันอย่างเข้มแข็ง โดยผู้ควบคุมที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ต้องลงปฏิบัติตรวจไม่ใช่อนุญาตไปแล้วจบ ต้องลงไปตรวจเองด้วย
อีกหน่วยงานคือสภาวิชาชีพ เพราะเป็นหน่วยงานกำกับ แต่ปัจจุบันสภาวิชาชีพไม่มีการเข้าไปตรวจสอบว่า โครงการต่าง ๆ มีวิศวกรประจำอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งตนคิดเห็นว่าจุดนี้สำคัญ โดยต้องร่วมมือกับระหว่างสภาวิชาชีพ กับหน่วยงานที่อนุญาต ซึ่งการอนุญาตเป็นเรื่องของท้องถิ่น ส่วนเรื่องคนเป็นเรื่องสภาวิชาชีพดูแล
“รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพ มีบอร์ด มีผู้ตรวจในลักษณะที่เป็นอาสาสมัคร โดยตรวจการอนุญาต ตรวจไซต์งาน ไปสุ่มตรวจดูว่ามีหรือไม่มี ถ้าเกิดคณะนี้ไปสุ่มตรวจแล้วพบว่าไม่มี เช่น ตอนขอใบอนุญาตระบุว่ามีวิศวกรอยู่ควบคุมงาน แต่สุ่มตรวจกลับไม่มี ก็ระงับงานก่อสร้างเลย หรือสภาวิชาชีพตรวจสอบจรรยาบรรณ อันนี้เป็นจุดที่จะต้องลงดาบ เพราะจะทำให้คนตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองมากขึ้น” นายกสมาคมวิศวกรฯ ระบุ.