นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้า ได้ดำเนินโครงการ “วิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล เพื่อสะท้อนสถานภาพและแนวทาง การขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” เพื่อศึกษาจัดเก็บและติดตามข้อมูลสถิติ ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ในระดับสากล รวมถึงวิเคราะห์ พัฒนาตัวชี้วัด องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์ภายใต้โครงการฯ ในปี 63 ประเทศไทยมีอันดับความสามารถทางการแข่งขัน ด้านดิจิทัลของประเทศ โดยสถาบัน ไอเอ็มดี (IMD) หรือ International Institute for Management Development อยู่ที่อันดับ 39 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับจากปี 62

ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลหากประเทศไทยต้องการขยับอันดับให้ดีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น การฝึกอบรม การศึกษา ทัศนคติการปรับตัว และความคล่องตัวทางธุรกิจ ขณะที่ความยากง่าย ในการประกอบธุรกิจ โดยธนาคารโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้น 6 อันดับจาก ปีก่อนหน้า ซึ่งพบว่า มีอันดับดีขึ้นเกือบทุกด้านโดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง ส่วนที่จะต้องพัฒนาเพิ่ม เพราะมีอันดับลดลงคือ ด้านการขอสินเชื่อ การบังคับใช้ข้อตกลง

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีความพร้อมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค ซึ่ง อังค์ถัด (UNCTAD) จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 42 ของจาก 152 โลก โดยขยับขึ้นมา 6 อันดับจากปีก่อนหน้า คาดว่า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตและคะแนนความน่าเชื่อถือของบริการไปรษณีย์ ส่วนดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดโดยองค์การสหประชาชาติ ไทยดีขึ้นอย่างมาก อยู่อันดับ 57 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น

“ในภาพรวมตัวชี้วัดระดับสากลต่างๆ ของไทยที่ทำได้ดี ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ด้านมาตรฐาน กฎระเบียบและบริการดิจิทัล ส่วนประเด็นที่ควรต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ได้แก่ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล การส่งเสริมภาคธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีและข้อมูล เป็นต้น” นายชาติชาย กล่าว

นอกจาก นี้เอ็ตด้ายังวิเคราะห์องค์ประกอบตัวชี้วัดระดับสากล ร่วมกับตัวชี้วัดเป้าหมายจากแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุป “ตัวชี้วัดด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” หรือ Strategic Indicators ที่ควรให้ความสำคัญ ออกมาทั้งหมด 34 ตัวชี้วัด โดยแบ่งออกเป็น 5 ด้าน สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตามมาตรา 43/1 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 2. ด้านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ 3 .ด้านมาตรฐานและกฎเกณฑ์ 4. ด้านการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และ 5. ด้านการวิจัยและพัฒนา

โดยตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นปัจจัยในการวัดที่ครอบคลุมตัวชี้วัดสากลที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เช่น อันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ อันดับดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงตัวชี้วัดและสถิติที่สะท้อนภาพและแนวทางการขับเคลื่อนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่ภาครัฐ เอกชน เป็นผู้รวบรวมและจัดเก็บไว้ เช่น จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศ ปริมาณการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วนผู้ใช้งานบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ สัดส่วนผู้มีงานทำในสาขาความเชี่ยวชาญ ด้าน ICT จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น