ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีชาวบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นำต่อหัวเสือมาเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยทำรังบนต้นมะขามข้างบ้าน และบินว่อนไปมาตลอดวัน อยู่ร่วมกับคนโดยไม่ทำอันตราย ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัว และมีเพียงคนเดียวในเขตตำบลนี้ที่เลี้ยงต่อหัวเสือได้โดยไม่ได้รับอันตราย เพราะต่อหัวเสือได้ชื่อว่ามีความดุร้าย หากใครถูกต่อหัวเสือต่อยต้องได้รับความเจ็บปวดทรมาน บางคนถึงกับช็อก หรือหากถูกรุมต่อยหลายตัวอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

จึงเดินทางไปตรวจสอบพบนายวาจา ภูนาสอน อายุ 41 ปีเจ้าของบ้าน พร้อมเปิดเผยว่า ตนเป็นคนเลี้ยงต่อหัวเสือจริง เดิมมีอยู่ 40 รัง ได้ขายไป ปัจจุบันเหลืออยู่ 4 รัง ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตนเคยล่าต่อหัวเสือ เพื่อนำตัวอ่อนมาเป็นอาหาร และแบ่งขายให้เพื่อนบ้านมาแล้วประมาณ 400 รัง พอระยะหลังต่อหัวเสือหายาก เนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยนไป จึงเกิดไอเดียหารังต่อหัวเสือมาเลี้ยงได้ประมาณ 4 ปี ทั้งนี้ตัวอ่อนของต่อหัวเสือนั้น ขึ้นชื่อว่าอร่อยมาก ให้ไขมัน และโปรตีนสูง ทำได้หลายเมนู เช่น แกงอ่อม หมก ทอด พล่า และก้อย ถือเป็นของหายาก จึงมีราคาแพง คนที่หารังต่อจึงต้องมีความชำนาญจริงๆ หากไม่มีทักษะ พลาดพลั้งมา อาจจะถูกต่อหัวเสือรุมต่อย ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต

นายวาจา กล่าวต่อว่า การหารังต่อมาเลี้ยงเป็นการใช้หลักสังเกตและภูมิปัญญา โดยจะดูตัวต่อที่บินมาหาอาหาร หากมันบินวนไปวนมา แสดงว่ามันยังไม่ได้อาหาร แต่ถ้าเห็นตัวต่อบินไปในแนวตรง ก็หมายความว่ามันได้อาหารแล้ว มันจะบินตรงกลับไปรังของมัน ก็ให้วิ่งตามต่อตัวนั้นแบบไม่ให้คลาดสายตา ก็จะพบรังต่อจริงๆ ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผล ส่วนวิธีการเอารังต่อมาเลี้ยงนั้น เพื่อความปลอดภัย ต้องใช้ช่วงเวลาค่ำมืด คือต้องมั่นใจว่าต่อที่มันบินออกจากรังไปหาอาหารช่วงกลางวันนั้น บินกลับเข้ารังแล้วทุกตัว อุปกรณ์มีเพียงสำลีหรือเศษผ้าขนหนูชุบน้ำมันเบนซิน พร้อมมีดพร้า หรือเลื่อยมือ เพื่อตัดกิ่งไม้ที่ต่อทำรังอยู่ลงมา

สำหรับหัวเสือต่อจะบินกลับเข้ารังก่อนสิ้นแสงดวงอาทิตย์ ซึ่งรังต่อจะมีรูหรือประตูเข้าออกเพียงช่องเดียว เมื่อเรามั่นใจว่าต่อรังที่เราจะเอาไปเลี้ยงเข้ารังหมดทุกตัวแล้ว ก็เอาสำลีหรือเศษผ้าผ้าขนหนูชุบน้ำมันเบนซินที่เตรียมไว้อุดรู กลิ่นเหม็นของน้ำมันจะระเหยเข้าไปในภายในรังต่อ และทำลายระบบประสาทของต่อทุกตัวที่อยู่ในรังให้หมดสติ จากนั้นก็จะใช้มีดหรือเลื่อยมือตัดกิ่งไม้ที่ต่อทำรังอยู่เป็นคอน หรือให้เหลือส่วนที่เป็นกิ่งไม้ด้วย ก่อนห่อด้วยถุงผ้า ป้องกันรังต่อเสียหาย แล้วนำรังต่อมาแขวนไว้ในที่ต้องการ อย่างที่ตนย้ายรังต่อจากที่เดิมบนต้นไม้ในป่า หรือจากหัวไร่ปลายนา มาอยู่บนต้นมะขามข้างบ้าน แต่ที่ต้องระวังคืออุปกรณ์ที่ยึดกิ่งไม้หรือคอนรังต่อเดิมกับกิ่งใหม่ จะต้องใช้ลวดเท่านั้น หากใช้เชือกหรือวัสดุอย่างอื่นจะไม่คงทน และอาจจะถูกต่อกัดผุพัง ทำให้รังต่อร่วงลงมาได้

เมื่อย้ายบ้านให้ต่อเข้าที่เข้าทาง โดยใช้ลวดยึดคอนรังต่อเก่ากับคอนรังต่อใหม่มั่นคงดีแล้ว ก็ดึงสำลีหรือเศษผ้าชุบน้ำมันเบนซินที่อุดรูออก กลิ่นน้ำมันก็จะระเหยหายไปเอง ตัวต่อที่สิ้นฤทธิ์เนื่องจากกลิ่นเหม็นน้ำมันก็จะฟื้นคืนสติ ตอนเช้ามันก็บินออกไปหาอาหารตามปกติ แม้จะเปลี่ยนสถานที่แต่รังเดิม มันก็จะหากินวนเวียนอยู่บริเวณใกล้รัง เหมือนไม่รู้สึกตัวว่าถูกย้ายบ้าน นี่คือประสบการณ์ในการนำรังต่อมาเลี้ยง ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ มันหากินของมันเอง และรังต่อก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่นำมามีขนาดเท่าลูกมะพร้าว ก็จะขยายใหญ่ขึ้น บางรังเท่าวงล้อรถยนต์ ในระยะ 4 เดือน ซึ่งเป็นห้วงอายุของต่อหัวเสือ จะให้ลูกอ่อนอย่างน้อยรังละ 1 กก. หรือมากถึง 4 กก. ตามขนาดของรังต่อ

โดยจะขายตัวอ่อนขีดละ 100 บาทหรือ กก.ละ 1 พันบาท สามารถสร้างรายได้และเป็นอาชีพเสริมให้ตนและเลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ขณะนี้ก็มีเพื่อนบ้านมาสั่งจองไว้หลายคน ทั้งนี้ประมาณช่วงออกพรรษา ถึงจะครบอายุเก็บตัวอ่อนตัวหัวเสือมาเป็นอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ต่อหัวเสือเป็นสัตว์ปีกที่อันตราย หากถูกต่อยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก

ทั้งนี้ตนเคยถูกต่อหัวเสือต่อยประมาณ 20 ครั้ง เหตุที่ถูกต่อยจะเป็นในช่วงที่จะกำลังจะเอาสำลีหรือเศษผ้าชุบน้ำมันอุดรูรังต่อ  จึงถูกตัวต่อที่กำลังจะบินเข้ารังต่อย แต่ก็รู้สึกเจ็บจี๊ดเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อถูกต่อยบ่อยเข้าก็เกิดความชาชิน เหมือนมีภูมิต้านทาน ขณะเดียวจากที่นำรังต่อหัวเสือมาเลี้ยง 4 ปี รวมประมาณ 40 รัง คนในครอบครัวคือพ่อถูกต่อต่อยเพียง 1 ครั้ง น้องชายถูกต่อย 1 ครั้งเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นความโชคดีที่ไม่เกิดอาการแพ้หรือเจ็บปวดรุนแรง ทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องปกติ รู้สึกเฉยๆ เหมือนต่อเป็นสมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน