ทั้งนี้ กับ “ดราม่าปล่อยปลา” ที่เกิดขึ้นที่ผ่าน ๆ มา…นั่นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลเรื่องนี้กรณีนี้ในอีกมุมมาสะท้อนต่อ…ซึ่งก็น่าพินิจพิจารณา…

มาดู “การทำบุญปล่อยปลา” ในอีกมุม

“มุมมานุษยวิทยา” ได้มีการวิเคราะห์ไว้

ทั้งนี้ เรื่องการ“ทำบุญปล่อยปลา” นั้น…เรื่องนี้มุม “มานุษยวิทยา” ก็ได้ “ให้ความสนใจ” ซึ่งมีการศึกษาวิเคราะห์ “แนวคิด-ความเชื่อ” โดยทาง ธนพล เลิศเกียรติธำรง นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ผ่านบทความชื่อ “ทำบุญปล่อยปลา และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” โดยสังเขปมีว่า…ความเชื่อเรื่องของการปล่อยปลาอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน มักจะพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันและในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งในอดีตความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับ ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศ ยังมีไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น…

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสื่อสารข้อมูลและให้ความรู้เรื่องนี้ผ่านช่องทางต่าง ๆ มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนการ “ปล่อยปลา” กับประเด็น “ผลกระทบต่อระบบนิเวศ??” ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม??…ก็ยังปรากฏเป็นระยะ ๆ

ทางนักวิชาการท่านดังกล่าวข้างต้นได้สะท้อนไว้ว่า… เรื่อง “การมีชีวิตของปลา” และ “การทำบุญ” ได้ถูกผูกโยงไว้ด้วยกัน ซึ่งแนวคิดนี้ฝังรากลึกอยู่กับสังคมไทยมานาน และยิ่งฝังแน่นมากขึ้น โดยที่มาของความเชื่อนี้แม้ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่หากมองที่แนวคิดเรื่องนี้กับการนับถือพุทธศาสนา… ความเชื่อเรื่องการปล่อยสัตว์ (Animal release) นั้นจะพบในสังคม…

พบได้ในสังคมที่นับถือพุทธศาสนา…

ในประเทศไทย “แนวคิดการปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญ” นั้นสามารถพบเห็นได้ทั้งการ ปล่อยปลา การ ไถ่ชีวิตโคกระบือ โดยถูกนำมาผูกโยง เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการสร้างบุญ เชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดเรื่อง “บุญ-บาป”

“สิ่งที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคมคือการปล่อยปลาเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วจะได้รับผลบุญ และช่วยต่ออายุขัยให้มากขึ้น หรือเรียกว่าการสืบชะตา ซึ่งผู้ปล่อยปลาคาดหวังจะให้มีชีวิตอยู่ต่อนานขึ้น เชื่อว่าเมื่อปลามีชีวิตอยู่ต่อ ผลบุญจากการช่วยชีวิตก็จะย้อนกลับมายังตัวผู้ทำบุญให้มีชีวิตที่ดีขึ้น” …เป็นคำอธิบาย “ความเชื่อ” ที่ผูกโยงไว้ด้วยกัน

ระหว่างเรื่อง “บุญ” กับการ “ปล่อยปลา”

นอกจากนั้น “ปล่อยปลาเพื่อทำบุญ” ยังมี “ความเชื่อพื้นฐาน” เข้ามาประกอบด้วย เช่น“ความเชื่อสายพันธุ์” ที่เชื่อว่า การปล่อยสัตว์แต่ละสายพันธุ์จะให้ผลที่ได้รับแตกต่างกัน อาทิ “ปล่อยปลาไหล” เพื่อความราบรื่นในชีวิต, “ปล่อยเต่า” เพื่อให้มีอายุยืนยาว, “ปล่อยนก” เพื่อความรุ่งเรืองก้าวหน้า, “ปล่อยกบ” เพื่ออุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร รวมถึงมี “ความเชื่อจำนวน” เช่น นิยมปล่อยปลา 9 ตัว เพราะเลข 9 เป็นเลขมงคล หรือนิยมปล่อยปลาเท่าอายุผู้ปล่อย เป็นต้น

เหล่านี้เป็น “ความเชื่อพื้นฐาน” ที่มีอยู่

ทั้งนี้ เมื่อ “ความเชื่อ” เรื่องนี้ได้รับความนิยมจากผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้คนบางกลุ่มเล็งเห็น “โอกาสทางเศรษฐกิจ” จนเกิดพัฒนาการกลายเป็น “ธุรกิจขายปลาปล่อย” ขึ้นมา ซึ่งทางนักวิชาการท่านเดิมสะท้อนไว้ว่า…เป็นเรื่องปกติของกลไกทางเศรษฐกิจ เมื่อมีอุปสงค์เกิดขึ้นก็ย่อมเกิดอุปทานรองรับ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ และนอกจากนี้…ในบทความดังกล่าวข้างต้นยังได้มีการตั้ง “ข้อสังเกต” เกี่ยวกับ “ข้อความโฆษณา” ที่ทาง “ธุรกิจขายปลาปล่อย” นั้นนิยมนำมา “ใช้เพื่อดึงดูดใจลูกค้า” ไว้ว่า…ส่วนใหญ่ร้านที่ทำธุรกิจขายปลาปล่อยมักจะนิยมระบุว่า…

ปลาที่ขายนั้น “เป็นปลาที่ซื้อจากตลาด

ส่วนในเรื่องราคานั้น… ปลาที่นำมาขายให้ซื้อไปปล่อยจะมีราคาสูงกว่าปลาที่ขายในตลาด แม้จะมีขนาดตัวหรือสภาพใกล้เคียงกันก็ตาม ซึ่งก็อาจมีที่มาจากหลาย ๆ “ปัจจัยที่ทำให้ราคาสูงขึ้น” เช่น ค่าเช่าที่ตั้งแผงปลา ค่าขนส่งปลา รวมถึงอาจจะเป็น “ค่าบุญที่พ่อค้าแม่ค้ากำหนดราคาขึ้นเอง??” เพราะมั่นใจว่า…จะมีคนมองข้ามราคาและซื้อปลาไปปล่อยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ราคาปลาที่ขายจะยิ่งมีราคาที่สูงขึ้นไปอีกหากเข้าใกล้เทศกาลที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางพุทธศาสนา เนื่องจากยังถูกผูกโยงเข้ากับแนวคิดที่ว่า… การทำบุญในช่วงสำคัญทางพุทธศาสนาทำให้ได้รับบุญมากกว่า

อย่างไรก็ตาม โฟกัสที่ “ผลกระทบจากการปล่อยปลาทำบุญ” กรณีนี้มีการสะท้อนไว้ว่า… ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหานี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการ ปล่อยปลา “ต่างถิ่น” หรือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่แนวคิดปล่อยปลาทำบุญก็ยังมีส่วนที่ “ย้อนแย้ง” ในการกระทำ หากผู้ปล่อยไม่ได้คำนึงถึงปลาที่ปล่อยว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่?? จะเป็นหรือตายก็เป็นเรื่องของปลา!! ปล่อยแล้วรู้สึกได้บุญ-รู้สึกสบายใจ…ก็พอ ซึ่งถ้าเช่นนี้ก็สะท้อน ความเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ของมนุษย์ได้อย่างชัดเจน …ทั้งนี้ นี่ก็เป็น “มุมสะท้อน” บางส่วนจากอีกมุม…กรณี “ปล่อยปลา”

“มุมมานุษยวิทยา” ที่ว่าด้วยเรื่องนี้ก็มี…

“มีความเชื่อซ้อนทับอยู่หลาย ๆ มิติ”

และก็มีที่ “ย้อนแย้ง…บุญ?-บาป?”.