ท่ามกลางอากาศร้อนจัดอบอ้าว ร่างกายอาจสูญเสียน้ำ อ่อนเพลีย เกิดภาวะขาดน้ำได้ การดูแลสุขภาพพร้อมรับมือกับอุณหภูมิสูงของฤดูร้อนมีเรื่องน่ารู้หลายมิติ เช่นเดียวกับ “ฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ PM 2.5” ที่เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ

โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ทั้งนี้ นำแนวทางดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยนำเรื่องน่ารู้ “อาหารเป็นยา” ปรุงพืชผักสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ที่มีศักยภาพใช้เป็นอาหารสร้างเสริมสุขภาพ

เสริมภูมิต้านทาน ปรับสร้างสมดุลและสร้างความสดชื่นในช่วงฤดูร้อน โดย อาจารย์บุษราภรณ์ ธนสีลังกูร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ช่วงเวลานี้สภาพอากาศร้อนเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว ในช่วงหน้าร้อนอากาศร้อนจัดส่งผลให้เกิดความเสียสมดุลของธาตุทั้งสี่ได้ เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน

“ธาตุทั้งสี่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เสียสมดุล โดยเฉพาะ ธาตุไฟ กำเริบได้ง่ายในช่วงนี้ จะมีอาการปวดศีรษะ เป็นลมแดด เป็นแผลร้อนในภายในปาก หรือมีอาการกรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องเสีย มีเม็ดผดผื่นคันผิวหนังอักเสบ ฯลฯ และเมื่อธาตุไฟกำเริบจะส่งผลให้ธาตุอื่นๆ เสียสมดุลตามไปด้วย ดังเช่น ธาตุลมกำเริบ มีอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่สบายเนื้อสบายตัว ฯลฯ ธาตุน้ำจะหย่อน กระหายน้ำ สูญเสียน้ำ หรือขาดน้ำ ระบบการไหลเวียนต่างๆ ในร่างกายจะสูญเสีย เป็นต้น”

การดูแลสุขภาพดูแลธาตุไฟในร่างกายควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงมากเกินไปมีความสำคัญ ทั้งนี้ หน้าร้อนช่วงอากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง อีกทั้งการดื่มน้ำเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การรับประทานผักผลไม้ กินอาหารที่มีรสขม จืดเย็น เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับสร้างสมดุลและให้ความสดชื่น โดยช่วงฤดูร้อนผักผลไม้หลายชนิดให้ผลผลิต ทั้งมีศักยภาพเป็นอาหารเสริมภูมิคุ้มกันโรค “อาหารเป็นยา” นำมาดูแลสุขภาพรับมือกับสภาพอากาศร้อน

“การเลือกนำพืชผักพื้นบ้าน ผลไม้นำมาปรุงอาหารสร้างสมดุลสุขภาพสิ่งนี้เป็นหัวใจการ ทั้งนี้ การกินยาอาจมีข้อจำกัด มีเงื่อนไข ข้อควรระวัง แต่เมื่อนำมาทำอาหารนอกจากจะไม่มีอันตราย แต่ละเมนูยังมีความหลากหลายของรสชาติ อย่างช่วงอากาศร้อนอบอ้าวเวลานี้จากที่กล่าว นอกจากการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้วผักผลไม้ที่มีรสออกไปทางจืดเย็น ขมเล็กน้อย มีความหอมอ่อนๆ หลายชนิดสามารถเลือกนำมาปรุงอาหาร ดูแลสุขภาพได้ดี อย่างเช่น ฟักแฟง ตำลึง บวบ น้ำเต้า เห็ดฟาง หรือมะระ แตงกวา ฯลฯ ปรุงได้หลากหลายเมนู นำมาทำแกงจืด หรือแกงเลียง ก็เหมาะสม โดยเฉพาะ แกงเลียง เมนูนี้อาจต้องลดความเผ็ดลง โดยผักที่อยู่ในแกงเลียง อุดมไปด้วยผักที่ให้รสจืดเย็น ไม่ว่าจะเป็น บวบ น้ำเต้า ตำลึง แมงลัก ฟักทอง ฯลฯ”

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อาจารย์บุษราภรณ์ บอกเล่าเพิ่มอีกว่า นอกจากผักผลไม้นำมาปรุงอาหารปรับธาตุในช่วงฤดูร้อน เครื่องดื่มน้ำสมุนไพร อย่างเช่น น้ำบัวบก น้ำใบเตย น้ำใบย่านาง น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวย ฯลฯ ก็ช่วยให้ความสดชื่น ดับกระหายคลายร้อนได้ดีเช่นกัน

“ในช่วงฤดูร้อนผลไม้ที่มีความโดดเด่นที่เหมาะต่อการนำมาดูแลสุขภาพมีหลายชนิดอย่าง เช่น ชมพู่ แตงโม แก้วมังกร สับปะรด ฯลฯ เป็นผลไม้ที่มีน้ำมากและด้วยที่ช่วงหน้าร้อนผิวพรรณจะแห้ง การกินผลไม้จะช่วยให้ความสดชื่นบำรุงผิวพรรณ ส่วนถ้าเป็นพืชผักสมุนไพร นอกจากที่กล่าว ตะไคร้ ก็มีความโดดเด่น แม้จะมีความเผ็ดร้อนแต่ก็ไม่มาก จะมีความจืด มีความหอมสุขุมช่วยขับเหงื่อขับปัสสาวะ ขับความร้อน ขับพิษออกจากร่างกายได้ดี โดยนอกจากนำมาปรุงอาหาร อาจนำมาทำ ชาตะไคร้ ช่วยขับเหงื่อระบายได้ดีเช่นกัน”

บัวบก อีกหนึ่งผักเด่น บัวบกจะมีรสเย็นขมช่วยแก้กระหายน้ำให้ความสดชื่นขึ้น หรือแม้แต่ เก๊กฮวย เตยหอม สามารถนำมาปรุงเป็นชาหรือต้มกินแบบง่ายๆ คลายร้อนในช่วงอากาศอบอ้าว โดยที่สำคัญเมื่อเป็นเมนูเครื่องดื่มการเติมน้ำเชื่อมใส่น้ำตาลเพิ่มมากไปอาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากสมุนไพร หากต้องการความหวานอาจใส่เพียงเล็กน้อยหรือใส่น้ำผึ้ง 

การนำรสอาหารนำมาดูแลสุขภาพ ปรับสร้างสมดุล อาจารย์บุษราภรณ์ ให้ความรู้อีกว่า ทางการแพทย์แผนไทยจะให้ความสำคัญเรื่อง รสยา โดยรสยาสามารถสื่อไปถึงสรรพคุณที่จะเกิดขึ้นกับสมุนไพรนั้นๆ อาหารเป็นยา ทานพืชผักสมุนไพรยังช่วยสร้างเสริมภูมิต้านทาน โดยทางการแพทย์แผนไทยเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หากร่างกายแข็งแรงอาการเจ็บป่วยก็จะไม่เกิดขึ้น

“การทานอาหารต้านอนุมูลอิสระเช่น ผักผลไม้ที่มีวิตามินเอ เบต้าแคโรทีนสูงไม่ว่าจะเป็น ผักบุ้ง ตำลึง บรอกโคลี หรือผักที่มีสีเหลืองสีแดง อย่างเช่น ส้ม ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท ข้าวโพด ในกลุ่มเหล่านี้สามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดี หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีสีแดงสีม่วง หรือในกลุ่มน้ำสมุนไพร โดยที่รับประทานกัน เช่น น้ำกระชาย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะขามป้อม น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่างๆ ฯลฯ สามารถนำมาดูแลร่างกายได้ดี หรือแม้แต่ข้าว การรับประทานข้าวสี ไม่ว่าจะเป็นข้าวก่ำ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ฯลฯ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ควรรับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย ครบห้าหมู่ เน้นผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นเป็นหลัก”

นอกจากนี้ช่วงเวลานี้สถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นที่มีโมเลกุลเล็กจิ๋วซึ่งเมื่อเข้าสู่จมูก จะไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่โพรงจมูก แต่สามารถลงลึกไปสู่ระบบทางเดินหายใจ ไปสู่ปอด ลำไส้ผ่านเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนต่างๆ หากหายใจเข้าไปมากๆ ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้จะสะสมส่งผลต่อสุขภาพ การทานอาหารสมุนไพรเพื่อต้านอนุมูลอิสระเน้นการทานผักผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ดังที่กล่าวเป็นอีกส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดความรุนแรง 

“การขับของเสียออกจากระบบของร่างกาย เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญ นอกจากการรับประทานอาหาร เลือกสรรอาหารที่ช่วยการระบาย โดยสำรับอาหารที่เหมาะกับสถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว อย่างเช่น สะเดาน้ำปลาหวาน น้ำพริกผักจิ้ม แกงแกงเลียง ฯลฯ เมนูเหล่านี้อุดมด้วยผัก มีเครื่องเคียงต่างๆ โดยผักมีไฟเบอร์สูงจะช่วยเรื่องการขับถ่ายได้ดี หรือแม้แต่ น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะขามป้อม ฯลฯ ก็เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ระบาย ขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ การอบสมุนไพร หรืออาจเคยได้ยิน การสุมยา โดยนำหัวหอมมาทุบหรือใส่หอม ข่า ตะไคร้ มะกรูด ฯลฯ คลุกเคล้าในภาชนะให้เข้ากัน จากนั้นต้มน้ำเดือดเทลงไปในสมุนไพรแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะ ก้มหน้าลงไป ไอสมุนไพรที่ลอยขึ้นมาเมื่อได้สูดดมเข้าไปจะช่วยให้หายใจดีขึ้นบรรเทาอาการคัดจมูก ขณะที่อาการปวดหัว วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ก็ผ่อนคลายหายไปได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีขับพิษออกจากร่างกาย ในช่วงภาวะฝุ่น อีกวิธีดูแลสุขภาพที่ทำได้ง่ายด้วยตัวเอง  

“ช่วงฤดูร้อนอาการภูมิแพ้มีโอกาสกำเริบได้ง่าย สามารถใช้ยาปราบชมพูทวีป ยาแผนไทยซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือถ้ามีผดผื่นคันจากพิษฝุ่น เมื่อเผชิญกับฝุ่นมากๆ สามารถใช้ว่านหางจระเข้ โลชั่นพญายอ บัวบก ฯลฯ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการได้

การทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย สัปดาห์ละสามถึงห้าวัน โดยช่วงเวลานี้เน้นการออกกำลังกายในที่ร่ม ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง ออกกำลังกายในบ้าน โดยหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเอง การดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว และที่สำคัญที่สุดคือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ”

นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ อาจารย์บุษราภรณ์ ทิ้งท้ายเพิ่มอีกว่า การดูแลสุขภาพโดยครอบคลุมทุกกระบวนการบูรณาการร่วมกันโดยอีกส่วนหนึ่งที่แนะนำคือ การใช้หลักธรรมนามัย ซึ่งคือหลักการธรรมชาติในการดูแลสุขภาพ ได้แก่ กายานามัย ซึ่งคือร่างกาย ดูแลให้แข็งแรง จิตตานามัย และชีวิตานามัย ดำเนินชีวิตให้อยู่ในทางที่ดีที่เหมาะสม อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด ดำเนินชีวิตตามหลักธรรม โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะกระทบกับชีวิตเราได้น้อยมาก ซึ่งก็อยากฝากหลักนี้ไว้ได้นำไปปฏิบัติ นำมาดูแลตนเองและคนรอบข้าง

ไม่เพียงเฉพาะกับช่วงหน้าร้อนเวลานี้ แต่ส่งผลดีต่อสุขภาพดีกับทุกฤดูกาล.

                                                                                                                                      

พงษ์พรรณ บุญเลิศ