เพราะ…ต้องยอมรับว่า หลายคดีที่เป็นข่าวดังระยะหลังๆ ทนายความเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกมาเปิดเผย และสื่อสารเรื่องราว จนเป็นที่สนใจของสังคม และนำมาสู่การติดตามคดีสำเร็จ แต่อีกด้านก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บางบทบาท อาจเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความหรือไม่

“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามความคืบหน้าประเด็นร้อนกับ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนภาพปัญหาในปัจจุบันว่า น่าจะเกิดจากการไม่เข้าใจกฎระเบียบมรรยาททนายความดีพอ เพราะมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางจำนวนมาก ขณะที่การตรวจสอบการเข้าข่ายผิดมรรยาทตามขั้นตอน ต้องมีการตั้งเรื่องเป็นคดีมรรยาท เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการมรรยาทเป็นผู้พิจารณา

จากนั้นจะมีการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง และทำความเห็นเพื่อลงมติว่าจะ “จำหน่าย”, “ยก” หรือ “ลงโทษ” และส่งเรื่องให้คณะกรรมการของนายกสภาทนายความ เข้าวินิจฉัยในที่ประชุมว่า จะ “เห็นตาม” หรือ “เห็นต่าง” อย่างไร

เรื่องเรียกเงินกับลูกความ ปกติกรณีที่ทนายความให้คำปรึกษาและคิดเงินจะเป็นรายนาที หรือรายชั่วโมงสามารถกระทำได้ ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้ การคิดค่าทนายความเป็นเปอร์เซ็นต์จากทุนทรัพย์ที่ฟ้องสามารถกระทำได้ แต่หากคิดจากจำนวนเงินที่ได้รับมาจากการว่าความ หรือชนะคดี อาจได้มากกว่าหรือน้อยกว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้อง ถือเป็นการไม่ชอบมรรยาท และตามแนวคำพิพากษาของศาล

แต่ละปีจะมีคำร้องเรียนมรรยาทกว่า 1,000 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ การประพฤติผิดต่อศีลธรรมอันดี การทำให้เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณ ซึ่งทนายความควรประจักษ์ข้อนี้ เพราะกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างกว้าง การร้องเรียนมีมาโดยตลอด เพียงแต่ระยะหลัง มีทนายความออกสื่อค่อนข้างบ่อย อาจทำให้สังคมรู้สึกว่า การกระทำบางส่วนดูไม่เหมาะสม ซึ่งตนมีแนวคิดจัดระเบียบและอยู่ระหว่างแก้ไข เพื่อให้การดำเนินคดีมรรยาททนายความใช้เวลาน้อยลง

ส่วนขั้นตอนอื่นๆ เช่น เมื่อคณะกรรมการฯ ลงความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ประธานคณะกรรมการฯ ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนายกสภาทนายความใน 30 วัน และนำเข้าประชุมลงความเห็นให้เสร็จใน 60 วัน เมื่อทราบผลหากผู้ถูกลงโทษไม่พอใจ สามารถอุทธรณ์ต่อสภานายกพิเศษใน 30 วัน โดยสภานายกพิเศษต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน

นายกสภาทนายความฯ ย้ำถึงการทำหน้าที่ของทนายความทุกคนว่า มีสิทธิให้ความเห็นทางกฎหมายแก่สาธารณะได้ แต่ต้องเป็นความเห็นที่ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง อีกประเด็นคือการนำพยานหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ ของลูกความออกมาเปิดเผยสู่สาธารณะ โดยที่ลูกความไม่ได้อนุญาต แม้แต่การนำข้อเท็จจริง หรือเอกสารของ “คู่กรณี” ของ “คู่ความ” ตัวเองมาเปิดเผย ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอัน ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนาย

“ต้องบอกว่าทนายความที่กระทำตามที่กล่าวข้างต้นนั้น มีคนมาร้องเรียน และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาททนายความแล้วหลายคดี แต่ไม่อาจเปิดเผยชื่อได้”

สำหรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528  มี 3 ระดับ จากเบาคือ “ภาคทัณฑ์”, “ห้ามการเป็นทนายความไม่เกิน 3 ปี” หนักสุดคือ “ลบชื่อ”ออกจากทะเบียนทนายความ การจะลงโทษระดับใดขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ พยานหลักฐาน ความหนักเบา ผลเสียที่กระทบต่อลูกความ

ยกตัวอย่าง หากฉ้อโกงยักยอกทรัพย์สินของลูกความจะมีโทษค่อนข้างหนัก ถึงขั้นลบชื่อออกจากทะเบียน หรือ ทอดทิ้งคดี ฟ้องแล้วไม่ได้ไปศาล หรือยื่นขยายคำขอระยะเวลาการอุทธรณ์ แต่ไม่ได้ทำตามคำสั่งจนเลยกำหนด ลูกความไม่สามารถอุทธรณ์ได้ หากลูกความเป็นจำเลยคดีอาญาและถูกศาลลงโทษจำคุก 20 ปี ทนายความอาจจะถูกลงโทษ “สถานหนัก” เพราะเกิดผลเสียต่อลูกความอย่างมาก แต่หากทอดทิ้งคดีเล็กน้อยๆ เช่น ทุนทรัพย์ไม่ถึง 10,000 บาท ก็อาจจะถูกลงโทษเบากว่า เช่น ลงโทษภาคทัณฑ์หรือพักใบอนุญาต 3-6 เดือน แล้วแต่ดุลพินิจ

“ไม่อาจบอกบทลงโทษที่ชัดเจนได้ ต้องพิจารณาหลายปัจจัย อย่างทนายความคนหนึ่ง อาจจะถูกฟ้องหลายคดี แต่ละคดีน่าจะถูกลงโทษขั้นเบา แต่เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก คณะกรรมการมรรยาท ก็อาจจะลงโทษหนักขึ้นอีกขั้นก็เป็นได้”

ทั้งนี้ แต่ละปีมีทนายความถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนาย ประมาณ 5-10% ถูกพักใบอนุญาต 20-30% ของเรื่องที่มีผู้ร้องเข้ามา.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]