ขณะที่นโยบายบางมิติถูกมอง “ขาย” ยาก เพราะเห็นรูปธรรมช้า จึงไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากนัก หนึ่งในนั้นคือมิติการสร้างรากฐานสังคม อย่างการปูพื้นฐาน “คน” ให้เข้มแข็งตั้งแต่ภายในจิตใจ
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” เล็งเห็นความน่าสนใจประเด็นเหล่านี้ จากหลายปมปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตั้งแต่ที่บ้าน ยันรั้วโรงเรียน เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การใช้ยาเสพติด ภาวะทางจิตใจ ไปจนถึงการกลั่นแกล้งในลักษณะบลูลี่ (Bully) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น
การเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ที่เป็น “ความหวัง” ควรหาจุดเริ่มต้นจริงจังในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบอย่างไรสอบถามมุมมองเรื่องนี้จาก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาของเด็กและเยาวชนมายาวนาน ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ใช้ความรุนแรงหรือการบูลลี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า ประเด็นสำคัญเรื่องนี้มาจาก “ความไม่จริงจัง” ของผู้บริหารที่มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
ทั้งนี้ มองในส่วนโรงเรียนควรต้องมีนโยบายชัดเจน เพราะถือเป็นพื้นฐานความปลอดภัยในรั้วโรงเรียน ส่วนคุณครูต้องเปิดใจ
“ทุกวันนี้ที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะยังไม่เปิดใจยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง”
รศ.นพ.สุริยเดว ยังระบุถึงการมีนโยบายชัดเจน และการติดตามประเมินผลอย่างจริงจัง โดยวิธีการจัดการอาจมีตั้งแต่ เชิญคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนผู้ปกครอง รวมถึงสภานักเรียน และแกนนำนักเรียน มาร่วมกันออกแบบตามโจทย์ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการบูลลี่กัน เพื่อหาวิธีการจัดการโดยนำเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาวิเคราะห์ หาหนทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็น “บ้าน” หรือ “โรงเรียน” ที่เป็นบ้านหลังที่สอง รศ.นพ.สุริยเดว ย้ำว่าทั้งสองส่วนนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ เป็นพื้นที่ที่เด็กอยู่แล้วต้องรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ฉะนั้นบ้านที่ไม่เป็นบ้าน ทำให้ต้องมีระบบ “พี่เลี้ยง” ในชุมชน ซึ่งส่วนที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีศูนย์พัฒนาครอบครัวทั่วประเทศ
“เพราะสำหรับเด็กบางคนที่ไม่มีที่พึ่ง ก็ยังคงมีระบบพี่เลี้ยงที่จะช่วยเขาได้ ส่วนผู้ปกครองที่ไม่รู้เทคนิคการเลี้ยงลูก สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือโรงเรียนพ่อแม่ ที่มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างพ่อแม่กันเอง หากโรงเรียนอยากที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ก็สามารถเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้”
ในช่วงใกล้เลือกตั้งที่เป็นห้วงการแข่งขันทางนโยบาย ส่วนใหญ่แต่ละพรรคการเมืองจะโฟกัสไปที่ปัญหาของเศรษฐกิจปากท้องมากกว่าปัญหาในภาคสังคม จำเป็นหรือไม่แต่ละพรรคการเมืองควรเพิ่มความสำคัญกับนโยบายภาคสังคมมากขึ้น จุดนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ยอมรับเรื่องของเศรษฐกิจก็สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญรองลงมาคือการพัฒนาสังคม
“ยิ่งทุกวันนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดียที่อาจทำให้มีประเด็น “ไม่ดี” เข้ามาด้วย พรรคการเมืองแต่ละพรรค ต้องพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรมชัดเจน”
รศ.นพ.สุริยเดว ฝากข้อเสนอแนะหากพรรคการเมืองใดจะนำนโยบายไปต่อยอดการพัฒนาสังคม ประเด็นแรกคือสามารถเข้ามาดูตัวอย่างระบบ “พี่เลี้ยง” ของศูนย์คุณธรรมได้ อีกประเด็นคือ Social Credit system (การพัฒนากลไกระบบเครดิตสังคม) ที่ศูนย์คุณธรรมกำลังออกแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นระบบเฝ้าระวังส่งต่อความช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา ทำให้มีความเป็นรูปธรรมและพรรคการเมืองสามารถใช้เป็นโยบายในการพัฒนาต่อได้
“ทุนทางสังคมเป็นส่วนที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงเงินทองเท่านั้น แต่คือความเป็นอยู่ หรือความสุขในการใช้ชีวิต”
ดังนั้น รศ.นพ.สุริยเดว ย้ำว่า ทุนทางสังคมจึงเป็นทุนที่มีความหมายมาก และต้องการให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่เห็นมิติทางสังคม ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมตามมาด้วย.