ซึ่งกับคนที่มี “สภาพจิตใจอ่อนแอ” ก็อาจจะ “เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตได้” และทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอสะท้อนย้ำว่า อาจสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “Headline Stress Disorder” ขึ้น ซึ่งภาวะนี้ไม่ใช่ชื่อโรคแต่เป็นคำที่ใช้เรียก “ภาวะเครียดที่เกิดจากการเสพข่าวมากเกินไป” โดยเฉพาะ “เรื่องที่ชวนให้หดหู่-หวาดกลัว” ซึ่งเมื่อเกิดภาวะนี้…

ส่งผลต่อจิตใจ…และร่างกายก็จะย่ำแย่

อาจ “นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ” ได้!!

ยุคนี้มีข่าวสารทางโซเชียลยิ่งต้องระวัง!!

พลิกแฟ้มเตือนย้ำไว้…กรณี “Headline Stress Disorder” นี้ ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คือ ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเตือนไว้ผ่านทางเฟซบุ๊ก Mahidol Channel ถึง “พิษภัยจากการเสพข่าวร้ายมากเกินไป” โดยระบุไว้ว่า… ภาวะ “เครียด” จากการเสพข่าวมากเกินไป โดยเฉพาะข่าวที่ หดหู่ หรือ โหดร้าย กรณีนี้ก็สามารถ ส่งผลกระทบทั้งต่อจิตใจและร่างกายได้อย่างมาก อาจจะทำให้ วิตกกังวล โกรธ ซึมเศร้า ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ …ซึ่งถ้าเกิดภาวะนี้อย่างต่อเนื่อง…

อาจจะทำให้เกิดหลาย ๆ โรคตามมา…

อาทิ โรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง

ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาท่านดังกล่าวยัง “เตือน” ไว้ถึง “กลุ่มเสี่ยง” กลุ่มที่ ควรเลี่ยงการเสพข่าวสารหดหู่-โหดร้าย มาก ๆ ว่า…ประกอบไปด้วย… คนที่มีความเหนื่อยล้าทางจิตใจหรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น กำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเจ็บป่วยอยู่ เพราะเป็นกลุ่มคนที่จะมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เมื่อเสพข่าวแนวนี้ ก็จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียด, คนที่มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าอยู่แล้ว นี่ก็เป็นกลุ่มที่ถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวหดหู่-โหดร้าย เพราะมีสุขภาพจิตย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะเสี่ยงเกิดภาวะนี้สูงกว่าคนปกติ

คนที่ใช้เวลาในโลกโซเชียล-ออนไลน์มากเกินไป ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะในสื่อโซเชียล-สังคมออนไลน์ มีข้อมูลข่าวสารมากมายที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบ-คัดกรอง และโดยเฉพาะ คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว ซึ่งอาจจะเป็นด้วยบุคลิกภาพ หรือวุฒิภาวะ มีประสบการณ์ไม่มากพอในการวิเคราะห์ ก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามเนื้อหานั้น ๆ ได้ง่าย

กล่าวสำหรับ “คำแนะนำ” นั้น ทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาท่านดังกล่าว ได้มีการแนะนำไว้ว่า… “ต้องอย่าเชื่อทันที” เพราะบางที Headline ของข่าวที่เสพ มีการใช้คำที่เกินจริงเพื่อกระตุ้นหรือดึงดูดให้คนสนใจ จึงควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาประกอบด้วย ซึ่งมีหลาย ๆ เคสที่ Headline อาจไม่ได้ตรงกับเนื้อหา ยิ่งเป็นเหตุการณ์ด่วนหรือเหตุฉุกเฉินด้วยแล้ว…

ควรรอให้มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเสียก่อน…

ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อข้อมูลในข่าวนั้น!!

ประการต่อมาที่มีการแนะนำไว้คือ… “ควรตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อ” เนื่องจากในยุคนี้ มีข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ ที่ส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาสร้างความตื่นตระหนกและมีจุดมุ่งหมายสร้างความหวาดกลัว ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะช่วยกรองข่าวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจออกไปได้มาก และ “ควรหาเรื่องราวที่ดีมาเสพ” หรือ พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่เสพ โดยให้คิดว่าทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านร้ายเสมอ …ซึ่งเหล่านี้คือ “วิธีป้องกัน” การเกิดภาวะ “Headline Stress Disorder”

ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการท่านเดิมยังระบุไว้เพิ่มเติมด้วยว่า… “ทางออกที่ดี” อีกวิธีหนึ่งคือ “จำกัดเวลาเสพข่าวสาร” ซึ่งก็จะต้องเคร่งครัด มีระเบียบวินัยในการใช้เวลาจำกัดในการติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยจะต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน ซึ่ง ถ้ามีภาวะอาการแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรงดเสพข่าวสารแนวนี้ทันทีสักระยะหนึ่ง แล้วดูว่าอาการที่เป็นอยู่ทุเลาเบาบางลงหรือไม่…

“ไม่เฉพาะข่าวสารแนวหดหู่ ข่าวสารเชิงร้าย ๆ เท่านั้น ที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะนี้ จริง ๆ การที่หมกมุ่นกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากเกินไป ก็ทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรจัดสรรหรือแบ่งตารางเวลาให้เหมาะสม ไม่มากไปหรือไม่น้อยเกินไป จะดีที่สุด แต่ถ้าก็ยังเครียดอยู่ แม้จะเพลา ๆ กับการติดตามข่าวสารแล้ว ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ” …เป็นคำแนะนำจาก ผศ.นพ.วัลลภ เกี่ยวกับการ “ป้องกัน-แก้ไข” ภาวะที่ว่านี้ 

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ร่วมสะท้อนต่อข้อมูลและเน้นย้ำไว้ว่า… “Headline Stress Disorder” นี่เป็นอีกหนึ่ง “ภัยสุขภาพร่วมสมัย” ที่ในปัจจุบัน… ยุคโซเชียล “คนไทยสุ่มเสี่ยงตกอยู่ในภาวะนี้ได้ง่าย ๆ” และเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนอกจากข่าวหดหู่-ข่าวร้าย ๆ แล้ว…ด้วยสถานการณ์ “ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง” ก็จะเป็น “ตัวกระตุ้น” ที่ทำให้ผู้คนเกิด “เครียดกันมากขึ้น” โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง-กลุ่มเปราะบาง หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว…

และ “เครียดคลั่งก็น่าห่วง!!” ไม่แพ้คลั่ง

ก็ “ต้องระวังป่วยจิต…ลามถึงป่วยกาย”

ในยุค “คลั่งยิ่งอันตราย…เกิดรายวัน!!”.