สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี แม้ว่าประเพณีสงกรานต์ทั้ง 4 ภาคของไทย จะมีความแตกต่างของพิธีกรรม การละเล่น ความเชื่อ รูปแบบการจัด ของแต่ละท้องที่ แต่เหล่านี้ล้วนเป็นสีสันของชีวิตคนทั่วประเทศทั้งสิ้น ส่วนแต่ละภาค แต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร มาติดตามกันค่ะ

ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ

ภาคเหนือจะเรียกว่า “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน “วันสังขานต์ล่อง” วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าของชาวภาคเหนือ ซึ่งจะมีการจุดประทัดในช่วงเช้า เพราะมีความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายในปีก่อนให้พ้นไป และในช่วงเย็นจะมีงานบุญขนาดใหญ่ นั่นคือการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน ที่เรียกกันว่า “วันเนา” หรือ “วันเน่า” จะเป็นวันที่ห้ามด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” เป็นวันที่ชาวบ้านออกไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม จากนั้นจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย พอถึงวันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” ทุกคนก็จะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอขมา โดยในวันที่ 17 เมษายน “วันปากเดือน” ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำการปัดตัว เพื่อส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไป เพื่อเป็นการปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

วธ.ชู “ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ต้นแบบงานเทศกาลประเพณียกระดับสู่นานาชาติ |  เดลินิวส์

ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน
ภาคอีสาน เรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์” โดยประเพณีพื้นบ้านของภาคอีสานจะค่อนข้างเรียบง่าย ส่วนใหญ่เน้นการอยู่กับครอบครัว แต่จะมีกิจกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยชาวอีสานจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน จะมีพระสงฆ์ตีกลองโฮม เพื่อเป็นการเปิดศักราชเข้าสู่ปีใหม่ จากนั้นญาติโยมทั้งหลายจะไปรวมตัวกันที่ศาลาวัดต่าง ๆ เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมา จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำและก่อกองทรายภายในวัด หากใครต้องการทำบุญ ปล่อยนก ปล่อยปลา หรือปล่อยสัตว์อื่น ๆ ก็ทำได้เช่นกัน

งานบุญสงกรานต์ทั่วไทย ที่ต้องไปสักครั้งในชีวิต

ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้
ทางภาคใต้จะมีความเชื่อที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ นั่นคือ ความเชื่อแบบดั้งเดิมที่ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะมีการทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่ จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน หรือ “วันว่าง” ที่มีความเชื่อว่า ในวันนี้ยังไม่มีเทวดาองค์ใหม่มาคุ้มครองดูแลเมือง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ชาวนครจะหยุดกิจการต่าง ๆ แล้วหันหน้าไปทำบุญตักบาตรที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำผู้อาวุโสแทน ต่อมาในวันที่ 15 เมษายน ที่เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ในวันนี้บนสวรรค์จะมีเทวดาที่เป็นเจ้าเมืองใหม่ลงประจำการ ดังนั้น ชาวเมืองจึงต้องต้อนรับเทวดาเจ้าเมืององค์ใหม่ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อนำอาหารไปถวายพระที่วัด จากนั้นอาจจะไปรดน้ำผู้อาวุโสที่ยังไม่ได้ไปรดน้ำใน “วันว่าง” เพื่อเป็นการปิดท้ายประเพณีสงกรานต์ของชาวภาคใต้

ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง
วันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย ของภาคกลาง จะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เรามักเรียกวันนี้ว่า “วันมหาสงกรานต์” ส่วนวันที่ 14 เรียกเป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” และในวันที่ 15 ถือเป็นวัน “วันเถลิงศก” โดยทั้ง 3 วันนี้ ชาวภาคกลางส่วนใหญ่จะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ มีการสรงน้ำพระ มีการก่อพระเจดีย์ทรายภายในวัด มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และในบางจังหวัดจะมีพิธีแห่นางแมวด้วย นอกจากนี้ยังมีการทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ เพื่อให้สิ่งสกปรกหมดไปพร้อมกับปีเก่า เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ไทย ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่นเอง

ไม่ว่าสงกรานต์แต่ละภาคจะมีความแตกต่างกันไปอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นใจความสำคัญ นั่นคือ การสืบสานประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้กลับมาพบกันอย่างพร้อมหน้า ร่วมใช้เวลาร่วมกันนั่นเองค่ะ..