“ผ่าสนามฯ” ชวนพูดคุยยุทธศาสตร์ครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย “มั่นใจ” แค่ไหน หลังได้ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ สับสวิตช์เปลี่ยนขั้วมาเป็น “แม่ทัพ” เมืองหลวง ในตำแหน่ง ผอ.การเลือกตั้ง กทม. พรรคภูมิใจไทย
ความต่างของความต้องการ ส่งผลความต่างทางการเมือง
“พุทธิพงษ์” ยอมรับคะแนนเสียงต่างจังหวัดกับ กทม. มีความแตกต่างกันมาก หากมองด้านกายภาพ เช่น วิถีชีวิต สภาพสิ่งแวดล้อม การแข่งขัน ความแอดอัดต่าง ๆ การสัญจรไปมา ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความต้องการและปัญหาที่แตกต่างกัน รวมถึงในทางการเมือง ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด อาจจะมีสิ่งที่ต้องการต่างออกไป ยกตัวอย่าง การเน้นเรื่องเกษตรกรรม ราคาปุ๋ย สินค้าเกษตร หรือแม้กระทั่งการสัญจรไปมา อาจต้องการถนนที่ดี รถไฟที่ใช้ในการขนส่งสินค้า ความแตกต่างนี้ นำมาซึ่งความต้องการทางการเมืองที่แตกต่างกัน
“ตลอด 20 ปี ที่ตนมีโอกาสเป็นผู้แทนคน กทม. ทำงานการเมืองตั้งแต่เป็น ส.ส. หรือตำแหน่งต่าง ๆ ใน กทม. ทำให้ได้เข้าใจและเรียนรู้ปัญหามาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คน กทม. ต้องการจะเห็นปัญหาที่สะสมมานานได้รับการแก้ไข เราอยากสะท้อนและพยายามหาแนวทางนำไปสู่การแก้ไขให้เร็วที่สุด”
“โค้งสุดท้าย” จังหวะชนะใจ
ห้วงเอาชนะใจคนกรุง “พุทธิพงษ์” มองว่า ต้องดูช่วง“โค้งสุดท้าย” เพราะตัวบุคคลและนโยบายทุกคนทำเหมือนกันหมด ขณะนี้พรรคมีนโยบายและมีผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ สามารถทำการเมืองได้อย่างเข้มแข็ง ไว้ใจได้ มีโอกาสจะเป็นผู้แทนที่ดีในอนาคต ด้วยการทำให้การเมืองทันสมัยและปรับเข้ากับยุคสมัยได้
“เมื่อหลักคิดทั้งนโยบายและตัวบุคคลพร้อมแล้ว สุดท้ายคือประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า ในระยะเวลา 7 วันก่อนเลือกตั้ง หากจะเลือกคนขึ้นไปผลักดันให้นักการเมืองที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดคือใคร ก็เลือกคนนั้น”
สำหรับตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคมีทั้งคนรุ่นใหม่ และคนที่เป็น ส.ส. เดิม การเลือกตั้งครั้งนี้จะพิสูจน์ หากทิ้งประชาชนไม่เคยไปดูแลก็เหนื่อยหน่อย แต่หากทำอยู่แล้ว ไม่ทิ้งประชาชน อย่างไรก็ได้รับการเลือกตั้งอยู่แล้ว โอกาสพลาดแทบไม่มี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ไม่มี ส.ส. ใน กทม. แต่วันนี้มี 8 ตัวแทนที่จะไปรักษาแชมป์ ประกอบกับคนรุ่นใหม่อีกกว่า 20 คน ซึ่งในจำนวนคนรุ่นใหม่ที่มาลง แต่ละเขตก็ไม่ได้มามือเปล่า แต่มีเครือข่ายไปสานต่อประชาชนแต่ละเขตด้วย
พร้อมย้ำกว่า 20 ปีที่ทำการเมือง มีเครือข่ายอยู่แล้ว อาทิ ทีมอดีต ส.ก. และ ส.ข. ที่คุ้นเคยกัน และจะเป็นคนช่วยพาคนรุ่นใหม่ไปหาชุมชน เพื่อทำความเข้าใจนโยบานยพรรค ดังนั้น แต่ละเขตคำว่า “ใหม่” คือตัวผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อมาช่วยกันผลักดันโนยายให้ทันสมัย
ทั้งนี้ หากถามถึงความคาดหวังจำนวนเก้าอี้ ส.ส. “พุทธิพงษ์” ระบุ ณ วันนี้ยังคาดหวังและตอบไม่ได้จริง ๆ เพราะคน กทม. มาโดยตลอด แต่ถ้าถามในใจของ ตนก็อยากให้ ส.ส. เดิมทั้ง 8 คน กลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้ง เนื่องจากทุกคน “หักปากกาเซียน” มีความตั้งใจและมีผลงาน แต่หากถามอยากได้มากกว่าหรือ ก็ต้องตอบว่าแน่นอน แต่ที่ไม่กล้าฟันธง เพราะไม่มีใครสามารถคาดเดากระแส หรือการเลือกตั้งของคน กทม. ได้
“คน กทม. อยู่ภายใต้ข่าวสาร อยู่ภายใต้ข้อมูล และะตัดสินใจในวินาทีสุดท้ายว่าจะเลือกใคร เพื่ออะไร เพราะอะไร ทำไม”
“เอาใจใส่” ดูแลเช้าจดค่ำ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์
พรรคภูมิใจไทยมีนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ “ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7” ดูแลทุกวันทุกเวลา และครอบคลุมทุกวัย ตอกย้ำแนวทาง “พูดแล้วทำ” ยึดหลักการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-ให้โอกาส “เพิ่มรายได้” คือการหารายได้ 3 กะ เปิดพื้นที่ใหม่ส่งเสริมกิจกรรมใหม่ เปิดพื้นที่ค้าขายได้ตลอดวัน เน้นสร้างงาน รายได้ เพิ่มกิจกรรมรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง คล้ายตลาดนัด ที่ได้รับความนิยมเหมือนไต้หวัน หรือเกาหลี
“ลดรายจ่าย” เช่น พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ยไม่เกินคนละ 1 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับเงินกู้นอกระบบ ที่คิดร้อยละ 3 ต่อเดือน ถือว่าช่วยผู้กู้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 30,000 บาทต่อเดือน หรือ One day Pass Ticket ตั๋ววัน ค่าเดินทางที่เป็นต้นทุนของการดำเนินชีวิต หากสามารถล็อกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ให้แพงเกินไป โดยรถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวันไม่เกิน 50 บาท ส่วนรถไฟฟ้า เริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท เป็นต้น
“ให้โอกาส” คือให้ชีวิตคืนสู่ครอบครัว อาทิ รักษาฟรีมะเร็ง ฟอกไตฟรี ส่วนผู้สูงอายุ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ/ไข้หวัดใหญ่/โควิด ฟรีฉีดถึงบ้าน เพื่อเป็นการบริการให้กับผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง ส่วนคุณภาพชีวิตที่ดี กทม. มีปัญหาภาวะฝุ่น PM 2.5 ต่อเนื่อง เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือ อีกหนึ่งนโยบายคือ “กรุงเทพเมืองอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้มานานแล้ว ในต่างประเทศคือ Smart City พรรคนำเสนอพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ เพราะ กทม. คนเยอะ เทคโนโลยีทันสมัยขึ้น
“ปัจจุบันคนใช้สมาร์ตโฟนคุยไลน์มากกว่าคุยโทรศัพท์ ใช้ซื้อของ จ่ายบัตร จ่ายเงิน เราจึงต้องพัฒนา เพราะ กทม. ไม่ใช่แค่เมืองหลวงเล็ก ๆ เฉพาะคนไทย แต่เป็นมหานครของคนทั่วโลก ที่หลั่งไหลเข้ามา”
หักปากกาเซียนทุกรอบ ไม่เชื่อใครนอนมา
“พุทธิพงษ์” เผยการเลือกตั้งของคน กทม. ทุกครั้ง ไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ จะหักปากกาเซียน “ทุกครั้ง” หากใครมาบอกว่า คนนั้นคนนี้จะได้ พรรคนั้นพรรคนี้นอนมา ตนไม่เคยเชื่อ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา คน กทม. ส่วนใหญ่มีปัจจัยเลือกผู้แทน 2-3 เรื่องหลักคือ
1. คน กทม. ให้ความสำคัยกับนโยบาย 2. ตัวบุคคล และ 3. เลือกภายใต้สถานการณ์นั้น ๆ เช่น จะเลือกใครเพื่อใคร เลือกไปทำไม และโดยสถานการณ์ในขณะนั้นทำไมจึงเลือกคนนี้ ดังนั้น ในข้อ 3 จะเห็นว่า บางครั้งลืมเรื่องนโยบายและตัวบุคคลไปเลย แต่มาเน้นข้อสุดท้าย
นี่เป็นเหตุผลที่ว่า “ไม่มี” ใครสามารถ “เดาใจ” คน กทม. ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของข้อ 3 คือ ทำให้การเลือกตั้งผู้แทนของ กทม. เป็นการเลือกจากการคิดและตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่สังเคราะห์มาแล้ว
เชื่อมือ New Voters กาคะแนนเพื่ออนาคต
“พุทธิพงษ์” ชี้ว่าปัจจุบัน New Voters เก่งมาก ศึกษาข้อมูล ติดตามข่าวสาร และโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม เชื่อว่ากลุ่มนี้มีข้อมูลและเวลา จะเลือกใครอาจจะคิดมากกว่า และส่วนตัวเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ต้องเลือกเด็กรุ่นใหม่เสมอไป แต่คนกลุ่มนี้จะวิเคราะห์เก็บข้อมูลจากสิ่งที่รับรู้ แล้วนำมาสังเคราะห์ ก่อนเลือกคนที่ตอบโจทย์อนาคตได้
“เชื่อว่าจะไม่เลือกอะไรที่เพ้อฝัน อะไรที่ดูดีแล้วทำไม่ได้ หรืออะไรที่ฟังดูแล้วสวยงามแต่สัมผัสไม่ได้ก็ไม่เลือก เพราะการเลือกในครั้งนี้ คืออนาคตของเขา”
ทั้งนี้ ระบุพรรคภูมิใจไทยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นว่าที่ผู้สมัคร เชื่อว่าการสื่อสารจากกลุ่มคนที่มีวัยใกล้เคียงกัน จะทำให้มีภาพความคิดเหมือน ๆ กัน นี่คือหนึ่งเหตุผลที่นำคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้สมัคร ก็เหมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดคล้ายกัน.