อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ไปที่เชียงรายเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีอีกหนึ่ง “กรณีศึกษาเกษตรกรแก้หนี้” มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน…

กรณี “เกษตรอินทรีย์ + D&MBA + BCG”

ที่สามารถ “แก้หนี้” สามารถ “ลุ้นยั่งยืน”

ทั้งนี้… “ชุมชนทำการเกษตร เคยทำนาข้าวแบบเคมีกันเกือบ 100% ซึ่งทำแล้วขาดทุนทุกปี เกิดปัญหาหนี้สินของคนในชุมชนเยอะ และมองไม่เห็นทางออก เราก็เลยรวมตัวกันคิดหาทางออกร่วมกันในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตร หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ทำให้ต้นทุนต่ำลง แต่ก็ทำให้มีผลผลิตที่มากขึ้น ผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ทำออกมาเป็นอินทรีย์นั้น สามารถสร้างราคาได้ดี ทำให้เหลือเงินที่สามารถนำไปใช้จ่ายและชำระหนี้ได้…จากเดิมที่มองไม่เห็นทาง…” …เป็นเสียงบอกเล่าจาก พิชญาภา ณรงค์ชัย ประธาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งใน เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ต.ศรีดอนไชย อ.เทิง จ.เชียงราย

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้รับฟังคำบอกเล่าดังกล่าวนี้ จากการร่วมคณะของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนเกษตรอินทรีย์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรสู่แนวทางเกษตรอินทรีย์ จนสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทาง พิชญาภา ยังบอกเล่าไว้อีกว่า… การปรับเปลี่ยนมาทำ “เกษตรอินทรีย์” ของคนในชุมชนนี้ เริ่มจาก เปลี่ยนความคิด ของคนในชุมชนกันก่อน จะ เน้นใช้ทรัพยากรที่มีในชุมชน ลดการซื้อจากข้างนอก ทำให้ต้นทุนลดลง และมีการต่อยอดเพิ่มรายได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาเป็นอินทรีย์นั้น สามารถทำราคาที่ควบคุมตลาดได้ ทำให้เหลือเงิน มีเงินนำมาใช้จ่ายและชำระหนี้ที่มีอยู่ได้

การปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรมาสู่แบบอินทรีย์ของ ชุมชนบ้านทุ่งต้อม ปัจจุบันมีเครือข่ายแตกแขนง เพื่อให้ ครอบคลุมและครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นั่นคือ ตั้งแต่เลี้ยง เพาะ ผลิต แปรรูป จัดการด้านการตลาด ที่ทุกอย่างต้องสอดคล้องกันมีการแบ่งกลุ่มย่อยโดยเริ่มจากตั้ง กลุ่มหมูดำเหมยซานเกษตรพอเพียง เป็นกลุ่มหลักดูแลและกระจายองค์ความรู้-ผลผลิต มี กลุ่มทุ่งต้อมพอเพียง ดูแลข้าวเป็นหลัก มี กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เลี้ยงปลานิล-เลี้ยงกบแบบอินทรีย์ มี กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ย ผลิตปุ๋ยไส้เดือน และมีกลุ่มที่แยกออกไปอีกคือ กลุ่มแปรรูปหมูดำ กลุ่มแปรรูปปลานิล

“สิ่งที่เหลือจากแปรูปปลานิล ไม่ว่าจะส่วนหัว ก้างปลา ก็ส่งต่อให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์นำไปบดรวมกันและผสมกับแหน ใบหม่อนตากแห้ง แล้วส่งต่อให้ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ นำไปผสมทำเป็นอาหารสัตว์ส่งต่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมู และเชื่อมโยงไปถึงการเลี้ยงไก่ไข่ นอกจากนั้นยังลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการเผาฟาง นำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ด้วยการใช้เลี้ยงปลานิล ส่วนพวกมูลหมู มูลวัว ก็นำมาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งทุกอย่างต้องสอดคล้องกันหมด ทุกอย่างในชุมชนไม่มีการเหลือทิ้ง และใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 100%” …นี่ก็ “น่าสนใจ” ยึดโยง “BCG Model”

ปัจจุบันสมาชิกชุมชนนี้ ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์จากหลายหน่วยงาน จากกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว 197 คน และอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนอีก 795 คน ที่อยู่ในพื้นที่ อ.เทิง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ มีช่องทางการตลาดทั้งตลาดโมเดิร์นเทรด ส่งร้านอาหาร รวมทั้งมีตลาดออนไลน์ เป็นเพจเฟซบุ๊กชุมชุน ชื่อ ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์ Tungtom organics village

ทาง พิชญาภา ยังระบุด้วยว่า…เมื่อ ชุมชนบ้านทุ่งต้อม ก้าวเข้าสู่ “เกษตรอินทรีย์” และทาง ธ.ก.ส. เติมสินเชื่อ 1,000,000 บาท การทำอาชีพที่นี่ก็มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น ตอนนี้กลุ่มฯ สามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาทต่อคน… “ตอนนี้การทำการเกษตรไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น จากเดิมที่เรามองไม่เห็นทาง จากเดิมที่เราไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาส่งหนี้ ตอนนี้เรามีรายได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถส่งหนี้ มีแนวทางสร้างไปสู่การลดหนี้ในอนาคต และก็จะทำให้เกิดความยั่งยืน ทั้งครอบครัวเกษตรกรและในชุมชน”

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส. นั้น ทาง มานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… เครือข่าย วิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม จ.เชียงราย ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการนำโมเดล “D&MBA หรือโครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ของ ธ.ก.ส. ไปปรับใช้ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับผู้นำเครือข่ายฯ ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนร่วมกับคนในชุมชน ควบคู่กับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายบุคคล สร้างวินัยการเงินและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เติมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องและการลงทุนทำเกษตร

และที่สำคัญคือยังได้มีการสนับสนุนการ “เติมองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และการทำเกษตรอินทรีย์ ตามหลัก BCG Model” ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้… “นำสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชนอย่างยั่งยืน…”

นี่ก็ “อีกกรณีศึกษาเกษตรอินทรีย์แก้หนี้”

“ยึดหลักพอเพียง” โดย “พึ่งตนเองก่อน”

โดย “ไม่เพียงแค่หวังที่เขาว่าจะช่วย??”.