หนึ่งตัวอย่างที่เพิ่งเปิดตัวไปช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ การออกมาแสดงจุดยืนช่วย “จับตา” การเลือกตั้งผ่านแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) โดยคณะราษฎรและเครือข่าย ซึ่งมองว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเป็นความหวังที่ประชาชนจะสามารถลืมตาอ้าปาก และเป็นตัวกำหนด “ทิศทางใหม่” ของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เผยแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” ว่าเป็นการร่วมมือกันของฝ่ายประชาธิปไตย บน 3 หลักการสําคัญที่เป็นทั้งจุดยืน และลําดับข้อเรียกร้อง ได้แก่

1.การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์เจตจํานงในการเลือกผู้แทนราษฎร ผ่านกิจกรรมจับตาเลือกตั้ง สอดส่องการหาเสียงของบรรดาผู้สมัคร  กดดันและจับตาการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และหน่วยงานรัฐทั้งหลาย ให้อยู่บนหลักของความบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม

2.การเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะไปด้วยกัน  เชิญชวนและเรียกร้องต่อประชาชน และบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ให้เดินหน้าร่วมกันเอาชนะฝ่ายเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง และผนึกกําลังพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล

3.การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างแท้จริง หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของฝ่ายประชาธิปไตย รัฐบาลจําเป็นต้องเดินหน้าสู่การปฏิรูปในทุกองคาพยพ ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการปฏิรูปสถาบัน

ด้าน “ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า กกต.ต้องมีคำตอบให้ประชาชน เกี่ยวกับเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง ทุกคนในสังคมเห็นว่าการแบ่งเขตของ กกต. เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองบางกลุ่ม พร้อมขอเรียกร้องให้ กกต. นับคะแนนแบบ “เรียลไทม์” ไม่ “ดอง” คะแนน

ทั้งนี้ ฝากถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าขอให้ทุกพรรคการเมืองหาเสียงอย่างโปร่งใส ไม่โจมตีกัน แต่ขอให้ต่อสู้กันด้วยนโยบาย ซึ่งจะมีประโยชน์กับประชาชนมากกว่า และขอร้องให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบการหาเสียงทุกพรรคการเมือง อาทิ มีการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่ และในวันเลือกตั้งก็ขอให้อยู่ที่คูหาเลือกตั้ง เพื่อจับตาดูว่าการนับคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่

ขณะที่ “อานนท์ นำภา” ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกทำร้ายร่างกาย ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งจะทวงคืนอย่างแน่นอน ในนามของคนรุ่นใหม่จะจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นพรรคการเมืองที่ชูนโยบายจะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างแท้จริง แต่จากนี้เป็นต้นไปต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หยั่งถึงรากของปัญหาสังคม พร้อมย้ำจะพยายามเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น

ส่วน กัลยกร สุนทรพฤกษ์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวถึงการยุบสภาที่ผ่านมาอาจดูเหมือนเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนและเป็นการเปิดทางสู่การเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วแม้ว่าจะไม่มีการยุบสภา ก็ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี พร้อมมองการยุบสภาเป็นเพียงฉากหนึ่งในเกมการเมือง ไม่ใช่ฉากสุดท้ายของรัฐบาลเผด็จการทหาร

การเลือกตั้งครั้งนี้คือการนำอำนาจกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอีกครั้ง ผ่านปลายปากกาในการเลือกตั้ง ที่เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเผด็จการ” 

สุดท้าย “ธนพร วิจันทร์” นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพเป็นอย่างมาก องค์กรระดับโลกก็จัดลำดับประเทศไทยด้านประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพอยู่ในเกณฑ์ถดถอย

โดยข้อตั้งสังเกตว่า ความเลวร้ายของรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านมาคือ “ไม่มีน้ำยา” ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องให้กับประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น กลับกันหน่วยงานของรัฐกลับเป็นผู้กระทำเสียเอง ทั้งทุนสีเทา การคอร์รัปชั่นในวงการตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่ ส.ว. 250 เสียง ซึ่งเป็นองคาพยพเผด็จการที่ผ่านมา.