ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ทวีความรุนแรงทั้งในทางการเมืองและสังคม เมื่อมาครงให้นายกรัฐมนตรีเอลิซาเบธ บอร์น ใช้อำนาจตามมาตรา 49 : 3 ผ่านกฎหมายบำนาญดังกล่าว โดยไม่ต้องผ่านการลงมติของสภา สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งเสนอญัตติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายค้านยังไม่ได้เป็นพันธมิตรกันอย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นอานิงส์ให้รัฐบาลซึ่งครองเสียงข้างน้อย สามารถเอาตัวรอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ “ได้อย่างฉิวเฉียด”

ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก” แต่หนทางเพื่อการรักษาสมดุลให้กับโครงการบำนาญ “มีไม่มากนัก” ด้วยเหตุนี้ “การปฏิรูปจึงเป็นสิ่งจำเป็น” และยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

เกี่ยวกับการประท้วงของประชาชนและคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การตัดสินใจเตรียมให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยใช้ “อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้ไม่ต้องผ่านสภา มาครง กล่าวว่า เขาขอเลือกการรักษา “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” มากกว่าผลโพล ผู้นำฝรั่งเศส ยืนยันว่า รัฐบาลเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่จะออกมาประท้วง “แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย” และประณามการใช้ความรุนแรงของผู้ประท้วงบางกลุ่ม ซึ่งเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ

อนึ่ง การประท้วงที่เกิดขึ้นรอบนี้มีความรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสในนาม “เสื้อกั๊กสีเหลือง” เคลื่อนไหวคัดค้านการที่มาครงสั่งขึ้นราคาเชื้อเพลิง เมื่อปี 2561

ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายปฏิรูปบำนาญ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสยืนยัน เป็นความพยายามยกระดับความเท่าเทียม และเพื่อการันตีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงานที่ครอบคลุมให้กับทุกอาชีพ คือ การที่บุคคลเกิดก่อนปี 2518 สามารถเกษียณอายุได้ที่ 62 ปี ซึ่งประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนมากที่สุด

FRANCE 24 English

อย่างไรก็ตาม บุคคลซึ่งเกิดหลังจากนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เพดานการเกษียณอายุใหม่ คือ 64 ปี เพื่อให้ได้รับสวัสดิการหลังเกษียณอายุแบบเต็มจำนวน โดยเงินบำนาญขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ยูโรต่อเดือน ( ราว 37,000 บาท ) เป็นเดือนละ 1,200 ยูโร ( ราว 44,000 บาท ) ครอบคลุมระยะเวลา 43 ปี แต่ประชาชนโต้แย้งว่า ข้อกำหนดนี้เท่ากับว่า ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นด้วย

รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวสามารถเพิ่มวงเงินสมทบบำนาญประจำปีเพิ่มขึ้นอีก 17,700 ล้านยูโร ( ราว 656,300 ล้านบาท ) และอุดหนุนให้ระบบบำนาญเท่าทุนภายในปี 2570

ใช่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่เคยต้องการปฏิรูประบบบำนาญมาก่อน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 1 เดือน ก่อนยุติด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอแลง จุปเป และรัฐบาลยอมยกเลิกแผนการทั้งหมด “อย่างถาวร”

ผู้เข้าร่วมประท้วงถือแผ่นป้ายต่อต้านนายกรัฐมนตรีเอลิซาเบธ บอร์น ระหว่างร่วมการชุมนุม ในกรุงปารีส

ขณะที่มาครงเองเคยพยายามปฏิรูประบบบำนาญมาแล้วก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 ที่จะเป็นการใช้ “วิธีใหม่” เพื่อคำนวณสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ 42 แบบตามสาขาอาชีพ “เพื่อให้เป็นระดับเดียวกัน” สร้างความสับสนและความไม่พอใจให้กับประชาชน ซึ่งกังวลว่า ผลประโยชน์หลังเกษียณของตัวเองจะลดลง ทว่าท้ายที่สุดรัฐบาลเป็นฝ่ายระงับแผนการทั้งหมด เพราะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ฝ่ายผู้ประท้วงยุติการเคลื่อนไหวเช่นกัน

ตราบใดที่สถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าการประท้วงจะยังคงดำเนินต่อไป โดยรัฐบาลเฝ้าสังเกตการณ์ว่า ประชาชนจะ “ยอมรับความจริงในสักวันหนึ่ง” แต่รัฐบาลต้องแลกด้วยการ “มีผู้เสียสละ” ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มต้องรับชะตากรรมมากที่สุด ไม่ใช่ประธานาธิบดี แต่คือ นายกรัฐมนตรี.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES