หลังจากทาง องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีการประกาศรับรองให้ “โนรา” เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม-มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก็ได้ส่งผลทำให้ “ลมหายใจของโนรา” ที่เคยแผ่วเบากลับมามีเรี่ยวแรงเข้มแข็งขึ้นทันตาเห็น สะท้อนได้จาก “ความตื่นตัว” ของหลายภาคส่วนที่หันกลับมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับ “วิถีแห่งโนรา” อย่างไรก็ดี แต่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ได้นั้น นอกจาก “คนในโลกโนรา” ที่ยังคงยึดมั่นศรัทธาในวิถีนี้อย่างเข้มแข็งแล้ว กับ “คนนอกโลกโนรา” นั้น ก็เป็นส่วนเสริมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้วิถีโนรายังคงอยู่และก็เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งเช่นกัน ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวบางส่วนของกลุ่มคนเหล่านี้มานำเสนอ…

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา “ทีมวิถีชีวิต” ได้รับเชิญจากทาง ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส ให้ร่วมสังเกตการณ์งานใหญ่ของคนโนราในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้ชื่อ “โครงการโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดินซึ่งครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปีแรกจัดขึ้นที่ วัดพะโคะ จ.สงขลา ส่วนพื้นที่ในปีนี้ ได้เลือกจัดงานขึ้นที่ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าในอดีตพื้นที่นี้คือ “เวียงกลางบางแก้ว” ซึ่งเป็น จุดกำเนิดตำนานของครูต้นโนรา ทั้ง 4 ได้แก่ พญาสายฟ้าฟาด แม่ศรีมาลา พระนางนวลทองสำลี และ ขุนศรีศรัทธา โดยไฮไลต์ของการจัดงานในปีนี้ คือ “พิธีกรรมโนราโรงครู” ที่มีทั้งการสาธิตประกอบการบรรยายให้ความรู้ซึ่งยึดรูปแบบคงไว้ตามพิธีจริง รวมถึงกิจกรรม “โนราประชันโรง” ซึ่งนอกจากจะมีการประชันขันแข่งวาดลีลาร่ายรำเผ็ดร้อนแล้ว ขณะทำการแสดงโนราทั้ง 2 คณะที่ประชันกัน ยังมีการบริกรรมคาถา เช่น การรำเฆี่ยนพราย การเหยียบลูกมะนาว เข้าใส่กันขณะทำการแสดงอีกด้วย ซึ่งว่ากันว่าโนราประชันโรงครั้งนี้เป็นรูปแบบเหมือนเช่นครั้งอดีตที่อาจจะย้อนกลับไปไกลเกือบ 100 ปีเลยทีเดียว โดยกิจกรรมเหล่านี้มีเป้าหมายก็คือ เพื่อให้โนราอยู่ในกระแสความสนใจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของโนรา และนอกจากพิธีดั้งเดิมที่หาดูได้ยากแล้ว “ทีมวิถีชีวิต” ยังมีโอกาสพบคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น “พลังส่วนเสริมที่สำคัญ” ที่ถึงแม้แต่ละคนจะมี “แรงบันดาลใจที่ต่างกัน” แต่ก็มีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน นั่นคือการขับเคลื่อนให้ “วิถีโนรา” ก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง

ภูมิ จิระเดชวงศ์

เริ่มจาก ภูมิ จิระเดชวงศ์ นักธุรกิจ ที่อีกบทบาทหนึ่งพลิกผันตัวเองเป็น “นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ของโนรา”  โดยได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ค้นคว้าผ่านทางช่องทางโซเชียล รวมถึงเขายังเป็นหนึ่งในคนที่มีส่วนร่วมผลักดันให้ “โนราเป็นมรดกโลกยูเนสโก” ซึ่งได้บอกเล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของเขากับโนราว่า เขาไม่ได้สังกัดสถาบันหรือหน่วยงานใดเลย แต่ที่สนใจอยากติดตามค้นคว้าเรื่องของโนรานั้น เป็นเพราะครอบครัวของเขาเองก็มีเชื้อสายโนรา แต่ตอนเด็ก ๆ มักจะมีผู้ใหญ่สั่งห้ามไม่ให้เขาไปยุ่งเกี่ยวกับโนรา โดยมักจะบอกว่า ถ้าไปยุ่งระวังจะโดนของ ซึ่งเขาได้เก็บงำความสงสัยและคำถามนี้ในหัวมาตลอด จนเมื่อทนความสงสัยไม่ได้จึงตัดสินใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยนับจากวันแรกถึงวันนี้น่าจะกินเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ศึกษาเรื่องราวของโนรา เขายังเล่าให้เราฟังว่าเขาได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวออกตระเวนดูโนราคณะต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะ “โนราโรงครู ซึ่งนับรวมกันแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 คณะ โดยเมื่อลงลึกมากขึ้น ก็ยิ่งหลงใหลโลกของโนรา และพบว่าโนรามิได้เป็นแค่การแสดง แต่เป็นเครื่องมือเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อให้คนตั้งมั่นในศีลในธรรมอีกด้วย ส่วนจุดที่มาร่วมผลักดันโนราเป็นมรดกโลก และเป็นคนหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลว่า วัดพระบรมธาตุเขียนบางแก้ว อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง แห่งนี้ เป็น “จุดเริ่มต้นของโนรา” นั้น เขาเล่าเรื่องนี้ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก่อนที่โนราจะได้รับการประกาศจากยูเนสโกเป็นมรดกโลก ได้มีคำถามเกิดขึ้นว่า หากมีชาวต่างชาติถามว่าหมุดหมายของโนราอยู่ที่ใด เราจะตอบอย่างไร ซึ่งถ้าเราไม่สามารถตอบได้ ก็จะทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความเป็นโนรา ทำให้เขาและคณะทำงานจึงศึกษาค้นคว้า และค้นพบข้อมูลสำคัญว่า วัดเขียนบางแก้ว หรือ วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว นั้น มีปรากฏในกลอนโนราทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นโนราสายไหน ซึ่งในตำนาน วัดเขียนบางแก้วน่าจะเป็น “เวียงกลางบางแก้ว” โดยหลักฐานประกอบตรงนี้คือ ในวัดนี้มีโบราณสถานสำคัญอย่างโบสถ์พราหมณ์อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “โคกแขกชี” ตั้งอยู่ จึงทำให้มั่นใจในมิติทางด้านเวลา และยิ่งสืบค้นข้อมูลมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า ที่นี่คือ “ปฐมบท 4 ครูต้นโนรา” 

ภูมิ กำลังร่วมอธิบายเกี่ยวกับโรงครูโนรา

’ช่วงแรก ๆ ที่พูดเรื่องนี้ ก็มีถูกโต้แย้ง หรือแม้แต่ถูกต่อว่าแรง ๆ ก็มีครับ (หัวเราะ) แต่โชคดีที่งานที่ค้นคว้า เราทำเชิงลึก ข้อโต้แย้งต่าง ๆ เราจึงอธิบายได้หมด ซึ่งถ้าถามว่าตอนนี้ดีใจที่สุดนอกเหนือจากการที่โนราได้เป็นมรดกโลกคืออะไร ก็คือการที่ทำให้กำแพงในอดีตได้ถูกทลายลง โดยตอนนี้มีเด็ก ๆ และคนทั่วไปที่ไม่ได้สืบสายเลือดโนราหันมาสนใจศึกษาและหัดโนรากันเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เราดีใจ เพราะเรารู้เลยว่า ถึงตอนนี้โนราจะไม่มีวันสูญหายไปแน่ ๆ ภูมิ นักธุรกิจที่อีกบทบาทหนึ่งเป็นนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โนรา เผยความภูมิใจในเรื่องนี้

ดร.กณิศ ศรีเปารยะ

ขณะที่ ดร.กณิศ ศรีเปารยะ อาจารย์ชาวไทยที่ไปสอนหนังสืออยู่ในคณะ Creative Technology and Heritage ที่ Universiti Malaysia Kelantan และเป็นนักวิชาการที่ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับโนราไทยภาคใต้ ก่อนที่จะขยายขอบเขตงานวิชาการเกี่ยวกับโนราข้ามพรมแดนไปที่ “โนรามาเลเซีย” หรือที่ชาวมาเลเซียนมักจะเรียกชื่อว่า “โนราแขก” หรือ “โนรามลายู” โดยเธอได้ให้ความสนใจศึกษาโนราดังกล่าวในพื้นที่เป้าหมายคือ รัฐกลันตัน และ รัฐเคดะห์ ก็ได้เล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของตัวเองให้เราฟังว่า เธอเป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่สนใจเรื่องราวโนรา และเริ่มดูโนราเพื่อเป็นความบันเทิง แต่ต่อมาเกิดสนใจในโนราโรงครู เพราะหาดูได้ยาก และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอเริ่มสนใจจนอยากศึกษาเรื่องราวโนราในเชิงพิธีกรรม ประกอบกับในวัยเด็กเธอก็มักจะถูกห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับโนรา โดยผู้ใหญ่มักชอบขู่ว่า ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับโนราให้ระวังจะถูกของ ซึ่งความสงสัยนี้ติดตามมาจนถึงตอนโต เมื่อมีโอกาสเธอจึงอยากจะหาคำตอบเรื่องนี้ ทำให้เมื่อมีโอกาสเธอจึงทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของโนรา อย่างไรก็ดี แต่เวลานั้นเธอยังไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับโนราแขก หรือโนรามลายู เพราะยังไม่ใช่ขอบเขตการศึกษาในงานของเธอ จนเมื่อได้มีโอกาสเจาะลึกเกี่ยวกับหัวข้อโนราโรงครู ก็ได้รับข้อมูลว่า ที่มาเลเซียนั้น มีโนรามลายูอยู่ ทำให้สนใจอยากที่จะค้นหาว่าจะเป็นยังไง จะแตกต่างจากโนราของไทยหรือไม่ และได้พบว่าโนรามลายูหรือโนราแขกนั้น แตกต่างจากโนราไทย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักวิชาการชาวไทยคนนี้ตัดสินใจเปิดพรมแดนความรู้เรื่องโนรา ด้วยการลงลึกศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของ “โนรามาเลเซีย-โนรามลายู”

ดร.กณิศ กับ อ.สมาน โดซอมิ ศิลปินมะโย่ง อ.รามัน จ.ยะลา

’ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสชมโนราของกลันตันนั้น ความรู้ในโนราสายนี้ของเราเรียกว่าเป็นศูนย์เลย เพราะดูไม่ออก ดูไม่เข้าใจ ทำให้ดูไม่สนุก เพราะไม่สามารถจับด้วยแว่นของโนราไทยได้เลย เนื่องจากเป็นคนละศาสตร์กัน ถึงแม้จะเป็นรากเดียวกันก็ตาม และจุดนี้เองที่ทำให้เราอยากศึกษาโนรามลายูที่ว่านี้ เพื่อขยายพรมแดนความรู้ด้านนี้ออกไปให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ โนราของมาเลเซีย หรือโนรามลายูนี้ เขาจะไม่ได้เรียกตัวเขาเองว่าโนราแขก เขาจะเรียกตัวเองว่าโนราเหมือนกันกับไทย ซึ่งที่กลันตันนี้ ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นคนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้จะแตกต่างจากของไทยออกไปบ้าง เช่น จะลดเรื่องพิธีกรรมลงไป แต่ที่ยังมีเหมือนกันคือยังมีบทสรรเสริญคุณครู“ ดร.กณิศ กล่าว พร้อมระบุ สาเหตุ ที่ทำให้สนใจศึกษา “โนราข้ามพรมแดน อย่าง “โนรามลายู” อีกว่า เพราะอยากเข้าใจ เพราะอยากดูให้สนุก จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ศึกษาเรื่องนี้ โดยเธอตั้งใจว่า อนาคตอาจนำโนราไทยไปสอนให้คนมาเลเซีย โดยหวังว่าโนราไทยอาจช่วยเป็นรากฐานให้กับโนราทางฝั่งนั้นก็ได้ ’เรื่องความเข้มแข็งนั้น ยอมรับว่าโนราไทยเข้มแข็งกว่าทางฝั่งนั้น โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงผู้คนและชุมชน โนราของไทยยังคงแข็งแรงกว่ามากค่ะ“ ดร.กณิศ กล่าว

ชวิน ถวัลย์ภิยโย

ทางด้าน ชวิน ถวัลย์ภิยโย เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มหมีควาย พัทลุงยิ้ม” ที่ได้นำเอา “พลังของภาพถ่าย” มาใช้เพื่อสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของ “วิถีโนรา” โดยตัวเขาและเพื่อน ๆ สมาชิกของกลุ่มฯ ได้เฝ้าติดตามเก็บบันทึกภาพเกี่ยวกับโนราภาคใต้มายาวนานมากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ ชวิน เล่าว่า สำหรับกลุ่มหมีควาย พัทลุงยิ้มนั้น เริ่มก่อตั้งราว ๆ ปี 2557-2558  ซึ่งเป็นช่วงที่ตัวของชวินได้เดินทางกลับมาบ้านเกิด ที่ จ.พัทลุง โดยก่อนหน้านี้ตัวของเขาเคยทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อนกับนิตยสารฉบับหนึ่ง ส่วนความสนใจที่ทำให้ต้องติดตามบันทึกภาพของโนรานั้น เขาบอกว่า เริ่มต้นจากความสนใจเกี่ยวกับ “โนราโรงครู”  เพราะหาดูยาก และตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าใด เขาเลยลงไปสำรวจที่โนราโรงครู ที่วัดท่าแค แล้วนำกลับมาคุยกันกับทางกลุ่มพัทลุงยิ้มว่า น่าจะโปรโมตโนราโรงครูให้คนรู้จักมากขึ้น จึงนำภาพที่ถ่ายมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กรับสมัครช่างภาพลงมาช่วยถ่ายภาพ โดยทางกลุ่มนั้นจะดูแลเรื่องอาหารให้ ก็มีศิลปิน มีช่างภาพทั้งจากบุรีรัมย์และกรุงเทพฯ  เกือบ 20 คน ลงมาร่วมถ่ายภาพในโปรเจกต์ดังกล่าว ซึ่งเขาบอกว่า ตอนนั้นแค่ตั้งใจอยากแค่ให้คนรู้จักโนราในมิติที่ลึกมากขึ้น เพราะอย่างโนราโรงครูนั้นไม่ได้จัดขึ้นง่าย ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีภาพหรือมีการสื่อสารออกไปมากนัก  จึงอยากที่จะใช้ความชำนาญในการถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องนี้ออกไป โดยชวินยังเล่าให้ฟังอีกว่า แต่ก่อนความรู้เรื่องโนราโรงครูของเขาเองก็เป็นศูนย์เช่นกัน แต่พอได้ถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ และพอเทียวไปเทียวมาโรงโนราบ่อย ๆ ก็ค่อย ๆ สนิทชิดเชื้อกับคณะโนรา จนสามารถเข้าออกได้ ทำให้ภาพที่ถ่ายของเขานั้น จึงมักมีมุมที่คนข้างนอกไม่ค่อยเห็นเกี่ยวกับชีวิตของโนรา

อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้ ชวิน ภูมิใจในฐานะ “ช่างภาพผู้บันทึกเรื่องราวโนรา” นั้น เขาบอกว่า มี 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกคือ การที่ภาพถ่ายทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความตื่นตัว จนมีเด็ก ๆ และเยาวชนหันมาสนใจหัดเรียนโนรากันเยอะขึ้น ส่วนอีกเรื่องคือ การที่คณะทำงานเพื่อยื่นขอมรดกโลกให้กับโนราได้ติดต่อเข้ามาที่กลุ่มฯ ของเขา เพื่อขอภาพถ่ายโนราโรงครู ที่พวกเขาได้เฝ้าเพียรบันทึกไว้มาอย่างยาวนาน เพื่อนำไปประกอบการยื่นขอรับรองให้โนราเป็นมรดกโลก

ชวิน กับโนราชบ ศิลปินโนราอาวุโส จ.ตรัง ที่เดินทางมารับภาพถ่าย

’ผมมองว่าภาพถ่ายได้ทำหน้าที่ของมันไปแล้ว ซึ่งโครงการตามหาโนราในภาพถ่ายนี้ ก็เป็นอีกส่วนที่พวกเราตั้งใจทำขึ้น เพราะโนราบางคนแม้แสดงมาหลายปี แต่ไม่เคยมีรูปตัวเองเลย พอเขาได้เห็นตัวเขาในภาพถ่าย เขาจึงดีใจมาก ๆ ยิ่งเราได้มอบภาพถ่ายกลับไปให้เขา เขายิ่งดีใจมากขึ้นไปอีก ซึ่งสำหรับพวกเราที่เป็นช่างภาพแล้ว การได้เห็นรอยยิ้มของโนราเหล่านี้คือพลังที่ทำให้เราอยากจะทำหน้าที่นี้ต่อไป ส่วนขอบเขตอื่น ๆ ที่คิดไว้และก็ได้ทำไปบ้างแล้ว ก็คือ การนำโนราไปยึดโยงกับมิติทางสังคมเรื่องอื่น ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น“ ชวิน  ระบุ

นี่เป็นเรื่องราว “ชีวิต-แนวคิด” ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ที่แม้จะเป็นเพียง “คนนอกในโลกของโนรา” หากแต่ทุก ๆ คนนั้นกลับสัมผัส ตระหนัก และมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม ที่จะช่วยทำให้ “มรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน” อย่าง “โนรา” ขยับก้าวเดินไปต่อได้พร้อม ๆ กับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” เชื่อมั่นว่ายังมีอีกมากที่เป็น “คนข้างหลังที่ช่วยทำให้...“วิถีโนรา…ยังคงเข้มแข็ง”.

‘โรงครู’ สายสัมพันธ์ ‘โนรากับผู้คน’

นอกจากในงาน “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของไทยพีบีเอส, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สสส. และ สกสว. จะมีการสาธิตต่าง ๆ แล้ว ในงานยังมีเสวนาน่าสนใจอีกด้วย อย่าง “ถอดรหัสโรงครู” นั้นก็ได้มีคนโนราและนักวิชาการขึ้นร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ว่าด้วยความสำคัญของโรงครู โดย โนราเกรียงเดช นวลระหงส์ โนราโรงครู วัดท่าแค จ.พัทลุง ระบุว่า โรงครูคือการบูชาครูขั้นสูงสุดในศาสตร์ของโนรา ทำให้ทุกขั้นตอนในพิธีจึงสำคัญ และการที่เขาเป็นโนรารุ่นกลาง อยู่ในช่วงรอยต่อของโนรารุ่นตายาย จึงได้เรียนรู้พิธีกรรมพื้นถิ่น และขณะเดียวกันก็ได้เห็นคนรุ่นใหม่สนใจสืบทอดโนรา ขณะที่ อ.ชัยวุฒิ พิยะกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เห็นว่าพิธีกรรมโรงครูเป็นการรวมภูมิปัญญาและจิตวิญญาณของผู้คนในภาคใต้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประวัติศาสตร์ อาหารการกิน ส่วน อ.พิทยา บุษรารัตน์ ผู้ทรงวุฒิด้านคติชนวิทยา ก็มองว่าโรงครูเป็นอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้โนราได้รับการสืบต่อ เพราะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีครูหมอเป็นสื่อกลาง ที่ถือเป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ยังมีชีวิตกับโลกจิตวิญญาณ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน