มีอยู่ 7 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

โดย ก๊าซที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน 2 อันดับแรก ได้แก่ 1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีแหล่งก่อกำเนิดที่สำคัญมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น เชื้อเพลิงรถยนต์ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และในกระบวนการผลิตของโรงงาน

2. ก๊าซมีเทน ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไม่มีก๊าซออกซิเจน หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือเป็นก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสีย และหมักหมมของอินทรียวัตถุจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นอกจากนี้ยังพบก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหารของสัตว์ โดยเฉพาะ กลุ่มสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ จนย่อยสลายออกมาเป็นมูลสัตว์ รวมไปถึงการ ตด และการ เรอ ด้วยไม่เว้นแม้แต่มนุษย์

เชื่อว่าหลายคนเกิดความสงสัยดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องขำขัน แต่อย่าลืมว่า วัวเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่กินจุ และมีกระบวนการย่อยอาหารถึง 4 กระเพาะที่ซับซ้อน ส่วนของ กระเพาะอาหารจะมีความจุมากที่สุด 71% จึงทำให้มีความจุก๊าซมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น นอกจากนี้กระบวนการกินของวัวที่เกิดซํ้า ๆ เรื่อย ๆ ได้ทั้งวัน หรือเรียกกันว่า เคี้ยวเอื้อง นั่นเอง! ยิ่งทำให้ ผลิตก๊าซมีเทนที่เข้มข้น มากกว่าปกติถึง วันละ 300-600 ลิตร และเมื่อมีก๊าซเกิดขึ้นโดยธรรมชาติแล้วก็ต้องขับออกผ่านทวารหนัก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่วัวจะตดได้ทั้งวันและยิ่งจำนวนวัวมีเป็นพันล้านตัวบนโลกก็จะยิ่งทวีการปล่อยก๊าซมากขึ้น

และเรื่องที่โลกกำลังร้อนขึ้นทุกวันจนกลับมาพูดถึงกันอีกในระยะหลัง ๆ นี้ โดยเฉพาะที่เกิดจากสัตว์ใหญ่อย่างวัวก็เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน พลังงานสมัยใหม่ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม วัวเป็นหนึ่งในบรรดาสัตว์เศรษฐกิจ หากจำนวนประชากรโลกพุ่งสูงขึ้นเท่าไร? ปริมาณความต้องการที่จะเลี้ยง การขยายพื้นที่สำหรับเลี้ยง และความเพียงพอเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ ก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ที่จริงการเกิดก๊าซเรือนกระจกเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในนั้น แต่ประเด็น ตดของวัว เป็นสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นเรื่องถกเถียงกันเพื่อคิดค้นวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งต้องไม่เป็นการทรมานสัตว์ด้วย แต่การจะห้ามไม่ให้วัวตดหรือเรอ หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ให้ผู้ที่นิยมกินเนื้อเป็นชีวิตจิตใจหันมาเลิกกินเนื้อวัวคงจะยากลำบากเกินไปนัก ส่วนจะมาจัดเก็บภาษีตดหรือเรอนั้น ก็ต้องติดตามกันดูว่าจะสำเร็จหรือไม่? และทำได้ในระดับใด ซึ่งต้องพิจารณากันให้รอบด้าน

อาหารแห่งอนาคต โดยเฉพาะโปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ ที่กำลังพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ ถูกคาดหวังว่า จะมาตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อน ต่อยอดไปถึง ความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร.