แบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง เรียกเสียงก่นด่าถ้วนทั่วจริง ๆ สับสนอลหม่านทั้งผู้สมัคร ทั้งคนใช้สิทธิ ยกตัวอย่าง แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ถนนบางกระดี่ คูหาเลือกตั้งอยู่หัวถนน เคยเลือกผู้สมัครเขตบางขุนเทียน แบ่งเขตใหม่คราวนี้ อ้าว กลายเป็นเลือก ส.ส.เขตบางแค ไปฉิบ ป้ายหาเสียงที่บรรดาผู้สมัครไปติดไว้ก่อนหน้า ก็ต้องเปลี่ยนไปติดเขตใหม่ ส.ส.บางเขตอยู่คร่อมมัน 4 เขตเลย นัยว่า มีการหั่นแขวงนั่นนี่ออกมาเพื่อให้จำนวนประชากรได้ตาม ก.ม. กกต.ช่างเถรตรงเป๊ะ-เป๊ะ เดินตามตัวหนังสือไม่สนประชาชน ไม่สนผู้สมัครจะกลายเป็นคนแปลกหน้าในเขตใหม่ ขณะเขตเก่ากลายเป็นเขตคนอื่น เป็นต้น

นี่เป็นวิธีทำลายประชาธิปไตยระบบผู้แทนได้ดีแท้ เข้าข่าย พวกนักการเมืองโผล่มาหาตอนหาเสียงเท่านั้น แทนที่จะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำไงให้มีการไปใช้สิทธิมากสุด กกต.กลับขยันทำสับสน นี่ยังไม่นับปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง ส.ส.เขตอีกเบอร์นะ

ก็นะ ถ้า กกต.ไม่มัวแต่จะหาวิธีการทำให้บางพรรคได้สืบทอดอำนาจ หรือไม่ ยังไง การแบ่ง 400 เขตเลือกตั้ง คงไม่เป็น Salamander ขีดเส้นไปมา จนเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน ตัวห่าน แบบนี้หรอก พฤติกรรมองค์กรอิสระน่ะทำมาแล้วทุกอย่าง ครบ 8 ปี อยู่ต่อได้ สะกดทุกความยุติธรรมให้อยู่แต่บนหิ้งจริง ๆ

แต่อีกนั่นล่ะ เลือกตั้งเที่ยวนี้ไม่ปกติ ไม่ใช่แค่การเข้าคูหาเลือก ส.ส. แต่มันคือการเปลี่ยนชะตาชีวิต เปลี่ยนอนาคตประเทศ แสดงเจตจำนงเสรีของประชาชนว่า ต้องการใครเป็นผู้บริหาร และอยากให้ประเทศชาติไปทางไหน แม้รัฐธรรมนูญจะอัปยศ ก็ต้องไปแก้ทีหลังให้จงได้ ครั้งนี้จึงจะเป็นการนับหนึ่งใหม่ บอกต่อผู้กุมชะตาชีวิตคนไทยให้ตระหนักรู้ถึงความต้องการแท้จริงอีกครั้ง

ประชาชนจึงดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อแสดงถึงเจตจำนงเสรีสุดแรงเกิด

หนึ่งในนั้น คือ ความร่วมมือที่จะทำโพลเลือกตั้งระหว่าง เครือเดลินิวส์ กับ เครือมติชน มีการเซ็น “เอ็มโอยู” ไป 20 มี.ค. ที่ผ่านมา  นำโดย นางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร นสพ.เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ กับ น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ และ นายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิกซ์เดฟ จำกัด ร่วมเป็นพันธมิตร   

การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระหว่าง “2 สื่อหลัก” ครอบคลุมคนอ่านกว่า 10 ล้านคน โดยจะมีการเก็บข้อมูลทำโพล 2 ครั้ง ต้นเดือน เม.ย. และกลางเดือน เม.ย ในประเด็นจะเลือกใครเป็นนายกฯ และจะเลือกพรรคไหน ที่พิเศษคือ หลังโพลออกมาจะมีสเปเชียล ฟอรัม วิเคราะห์ผลโพลในต้นเดือน พ.ค. ก่อนที่คนจะเข้าคูหาเลือกตั้งด้วย

“การทำโพล คือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ใครพรรคไหนจะมา ดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย ไปแตะต้องเบื้องลึกความรู้สึกของมนุษย์ เป็นการต่อสู้ระหว่างความคิดของการเปลี่ยนแปลงและอำนาจเดิม ผลจะออกมาอย่างไร ก็ต้องซื่อตรง ไม่บิดเบือน สังคมจะเลือกไปสู่อำนาจนิยม เสรีนิยม ก็ยอมรับ ยินดี” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว โดยโหวตเตอร์ครั้งนี้ คือ 7, 14, 16 ซึ่ง 7 ล้านคน คือคนรุ่นใหม่ (Gen Z), 14 ล้านคน คือ คนแก่ และ 16 ล้านกว่า (Gen x) ที่จะชี้ชะตาประเทศเที่ยวนี้

เหนืออื่นใด ระหว่างการเซ็นเอ็มโอยู มีข่าวด่วนว่า ได้มี ราชกิจจาฯ ประกาศเรื่อง การยุบสภา แล้ว ทำให้ผู้ร่วมงานส่งเสียงเฮและปรบมือดังลั่น ใครจะว่าอย่างไร ก็ไม่เป็นไร แต่เราถือว่า นี่เป็นนิมิตหมาย เป็นมงคลฤกษ์ ที่ประเทศชาติจะได้เดินหน้าอย่างแท้จริง

ทิ้งท้าย อีกความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ กกต.บ่ายเบี่ยงจะรายงานผลเลือกตั้งใหญ่แบบ “เรียลไทม์” อ้างไม่มีเทคโนโลยี แต่จะรายงานในอีก 5 วันต่อมา สมาคมสื่อทีวี, ออนไลน์, สื่ออิสระ, 40 สถานศึกษา, 3 ส.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 3 ทีมเทคสตาร์ทอัพ, 6 พรรคการเมือง, 10 องค์กรประชาชน จะระดมอาสาสมัครกว่า 1 แสนคน ลงประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง รายงานผลแบบสด ๆ หลังปิดหีบ 17.00  น. เป็นต้นไป  ใครจะ “บริจาคเงิน” สนับสนุน โปรดติดตามได้จากสื่อต่าง ๆ หลังจากนี้เลยจ้า

ทั้งนี้ เพื่อเป็นหูเป็นตา ไม่ให้มีเหตุพิสดาร ไฟดับ ยกหีบหนี พลร่ม ไพ่ไฟ ที่จะเบี่ยงเบนผลเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งต้องสุจริต เที่ยงธรรม ต่อให้มารูปไหน จะเป็นห่าน หรือเป็นอะไร ประชาชนก็จะดั้นด้นไปให้ถึงดวงดาว คอยดู…นะจ๊ะ

——————–
ดาวประกายพรึก