นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตลาดสินค้าเกษตร ในงาน “ติดตลาดเกษตร…Fresh Fruits From Farm”  จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ระหว่างวันที่ 21-26 มีนาคม 2566 เวลา 07.00-17.00 น. ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายการตลาดนำการผลิต นำพาภาคเกษตรไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน มุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตสินค้าทุกประเภทให้ตรงตามความต้องการของตลาด และให้มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน เพื่อเป็นการประกันว่าเกษตรกรจะมีรายได้ที่ดีขึ้น มีช่องทางการตลาดที่เหมาะสม ไม่มีสินค้าล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ โดยมุ่งพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ และวางรากฐานโครงสร้างให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งส่วนในการสนับสนุนให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร มีช่องทางจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงสินค้าแปรรูปทางการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร และผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและเป็นธรรม

“การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานในเรื่องตลาดนำการผลิต การแนะนำ และกระจายสินค้าเกษตร จากเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชผักผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ฤดูร้อนที่กำลังจะออกมาให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง เราจึงต้องรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร และถือเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่ต้องมาช่วยกันส่งเสริมสินค้าไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน เชื่อว่ารสชาติของผลไม้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และเชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกที่ดีที่สุดในโลกด้วย สำหรับในเรื่องของซีเซียม-137 (Caesium-137) ที่มีผลกระทบที่ลูกค้ามีความกังวลสารปนเปื้อนและได้มียกเลิกออเดอร์ผลไม้จากชาวสวนจังหวัดปราจีนบุรีนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีสารปนเปื้อนดังกล่าวในสินค้าเกษตร เพราะจากการตรวจสอบโดยเฉพาะบริเวณรอบโรงงานที่เป็นข่าว มีปริมาณสารปนเปื้อนอยู่ในอากาศยังไม่อยู่ในระดับที่อันตรายและยังไม่เกินมาตรฐาน จึงให้ความมั่นใจได้ว่าสินค้าเกษตรยังมีความปลอดภัย 100% และมีการจัดเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบและประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบสารปนเปื้อนนี้ เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อสินค้าเกษตรอย่างแน่นอน”