หวังโกยคะแนนนิยมฉับพลัน หากมองให้ไกลกว่าปัจจุบัน เชื่อว่ามีอีกหลายประเด็น “จำเป็น” ต่ออนาคต และหากเป็นไปได้ควรเริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนี้
“ผู้ลี้ภัย” หนึ่งประเด็นที่จะสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพราะเหตุใด “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนวิเคราะห์แนวนโยบายด้านใหม่ๆ ในสนามการเมือง พร้อมประเมินสถานการณ์ลี้ภัยที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาลในอนาคต
“พุทธณี กางกั้น” ผู้อำนวยการ The Fort in Bangkok อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอาวุโส องค์กร Fortify Rights ผู้คลุกคลีประเด็นผู้ลี้ภัย สะท้อนภาวะปัจจุบันว่าในด้านภูมิศาสตร์ การมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีประเด็นขัดแย้งไม่ว่าจะทางการเมือง ศาสนา ไปจนถึงชาติพันธุ์ เป็นธรรมดาที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเคลื่อนย้ายคน ทั้งผู้ที่มาเป็นแรงงานและผู้ลี้ภัย ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นที่รองรับการลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านสม่ำเสมอและเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะคนมีปัญหาต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ปลอดภัยกว่า
อย่างไรก็ตาม หากมองทั่วโลกก็เผชิญประเด็นนี้ไม่ต่างกัน มีคนประมาณ 20 ล้านคนต้องเคลื่อนย้าย เพราะภัยประหัตประหาร และต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย แม้ไทยจะไม่ใช่เพื่อนบ้านแต่บางคนเลือกมาเพราะเห็นว่าปลอดภัย หรือมาขอความคุ้มครองเพื่อไปยังประเทศที่สาม ไทยจึงมีผู้ลี้ภัยมาต่อเนื่อง เฉพาะค่ายอพยพ 9 แห่ง ขณะนี้มีประมาณแสนคน
“หากถามว่าในอนาคตจะลดลงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ เพราะจากประวัติศาสตร์โลกและอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่เกิด
ขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดมุ่งหมายอนุสัญญาหวังว่าวันหนึ่งจะไม่มีผู้ลี้ภัย แต่ถึงปัจจุบันเราพบว่าผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความขัดแย้งของโลกอาจเปลี่ยนรูปแบบไม่ใช่สงครามใหญ่ แต่สงครามเล็ก หรือความไม่มั่นคงในแต่ละประเทศ ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยสม่ำเสมอ”
มองเห็นผู้ลี้ภัย อย่าคิดไกลตัว ล้างชุดความคิด (ผิด)
เพราะต้องเผชิญประเด็นผู้ลี้ภัยแน่นอน พุทธณี แนะว่าถึงเวลาที่พรรคการเมือง รัฐบาลใหม่ และรัฐบาลต่อ ๆ ไป ต้องแสดงวิสัยทัศน์พรรค หรือนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีหรือไม่ แต่นับจากวันนี้ คาดหวังความสนใจที่ไม่ฉาบฉวย รัฐบาลต้องออกนโยบาย กฎหมาย หรือหลักการใดก็ตามที่นำมาสู่การบริหารจัดการประเด็นผู้ลี้ภัย
พร้อมมองการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน ควรเริ่มต้นสื่อสารสิ่งแรกคือ เลิกคิดเป็นเรื่องไกลตัว แม้เลิกไม่ได้ 100% แต่อาจใช้นำความคิดเชิงนามธรรมได้คือ ให้มองการลี้ภัยเป็นความลำบากของมนุษย์ ซึ่งสังคมเองมีแนวโน้มให้ความช่วยเหลือผู้ที่ลำบาก หรือกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว
ส่วนเชิงความมั่นคง การมีผู้ลี้ภัยส่งผลถึงเสถียรภาพประเทศ รัฐจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อความมั่นคงในเสถียรภาพและความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของตัวเองและเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาประเด็นผู้ลี้ภัยมักถูกผูกโยงกับเรื่องความมั่นคงของรัฐเสมอ ซึ่งส่วนตัวมองความมั่นคงของรัฐขึ้นอยู่ที่ “รัฐกับรัฐ” ไม่ได้อยู่ที่ความระวังของคนต่อคน
ทั้งนี้ หากมองความมั่นคงในความปลอดภัย พุทธณี กล่าวว่า แทบยังไม่เคยเห็นคดีอาญา หรือการกระทำที่เป็นการกระทำโดยกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เป็นการสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐจริง ๆ มีเพียงชุดความคิดว่าคนเหล่านี้มาแล้วจะไม่มั่นคง ทั้งที่ความเป็นปุถุชนไม่สามารถสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐได้ ข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในชุดความคิดบางอย่างที่ต้องปรับความเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ หากจริง สิ่งใดเป็นตัวชี้วัด
“ที่เรามองไกลตัวก็เป็นอีกชุดความคิดหนึ่ง ไกลจริงหรือไม่ หากมองเขาเป็นคนที่อยู่ในสังคมเราแล้วก็ไม่ไกลตัว หากมองเป็นกลุ่มเปราะบางที่เราต้องช่วยเหลือเขาก็ไม่ไกลตัว หากเราตัดว่าเขาไม่ใช่คนไทยออกไป ชุดความคิดแบบนี้เราอาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า”
พุทธณี ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบคนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว หากครอบครัวเราไม่มีความรุนแรงอาจมองไกลตัว เพราะไม่เคยเจอ ดังนั้น ไกลหรือใกล้จึงเป็นความรู้สึกว่า ใส่จากแค่ไหนมากกว่า เพราะหากอยากเข้าไปช่วยเหลือ ประเด็นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือปัญหากลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน หากไม่สนใจก็มองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าสนใจก็เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่นเดียวกัน หากตัดชุดความคิดบางอย่างว่าผู้ลี้ภัย ไม่ใช่คนไทย และมองสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม ในเชิงพื้นที่คือผู้ลี้ภัยอยู่แผ่นดินเดียวกับเราแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ต้องสร้างบทบาทเวทีโลก
จากการติดตามนโยบายหาเสียงปัจจุบัน พุทธณี ยอมรับว่ายังมีการพูดถึงประเด็นผู้ลี้ภัยในภาคการเมืองน้อยมาก ทั้งที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และให้ความร่วมมือกับกลไกยูเอ็นหลายอย่าง โดยประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นอีกประเด็นที่ไทยถูกตั้งคำถามเรื่องการบริหารจัดการอยู่เสมอ ที่ผ่านมาพรรคที่พอมองเห็นการขับเคลื่อนคือพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลปัจจุบัน ที่เคยนำเสนอเรื่องค้ามนุษย์โรฮีนจา การผลักดันชาวบ้านที่หนีภัยสู้รบชายแดน
ดังนั้น หากถามถึงข้อเสนอก็อยากให้พรรคการเมืองหรือรัฐบาล หากต้องการมีบทบาทบนเวทีโลก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งต้องใส่ใจประเด็นผู้ลี้ภัยด้วย
ฝากผู้นำในอนาคต อย่าประมาทตีกรอบหาเสียงแต่นโยบายเดิม
ขณะนี้เป็นจังหวะสำคัญที่จะได้เห็นว่าใครจะเป็นรัฐบาลใหม่ เป็นช่วงเวลาที่จะได้รู้ว่าคนไทยมีมุมมอง มีทิศทางไปทางไหน อยากบอกไปถึงผู้ที่ลงเลือกตั้งว่า “อย่าประมาท” คนไทย เวลาหาเสียงต้องคิดด้วยว่าอะไรเป็นสิ่งใหม่
“อย่าคิดว่าคนที่จะเลือกคิดแบบเดิม ๆ เสมอ เพราะเขาอาจมีความคิดเชิงก้าวหน้าไปกว่าที่คุณคิด เขาอาจเลือกพรรคที่มีนโยบายก้าวหน้า อย่าคิดว่าการหาเสียงรูปแบบเดิม หรือนโยบายเดิม ๆ ที่คิดว่าคนไทยไม่ชอบอะไรใหม่ ๆ อย่าประมาทในจุดนั้น โลกเปลี่ยนและเราเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลง”
พุทธณี ระบุ หากเสนอแบบมองไปข้างหน้า สิ่งที่คิดว่าไม่ “ป๊อปปูลาร์” (Popular) มาก่อน อาจจะป๊อบปูลาร์ก็เป็นได้ อย่างเรื่องผู้ลี้ภัย ไม่ใช่เรื่องที่การเมืองไม่เคยพูดถึง และ ณ วันนี้คิดว่าจะไม่หยุดแค่นั้น เพราะที่ผ่านมาเห็นกันแล้วว่ามีเรื่องใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ถกเถียงตลอด เช่น สมรสเท่าเทียม กัญชา ล้วนเป็นเรื่องที่เมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดกัน
“อย่าประมาทสิ่งใหม่ที่คนไม่คิด เพราะมันอาจจะคิดไปถึงก็ได้ ในทางการเมืองต้องใส่ใจเรื่องที่ไปข้างหน้าด้วย” พุทธณี ฝากทิ้งท้าย.