โดย “ชูวิทย์ จันทรส” เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สะท้อนไว้ตอนที่แล้วว่า เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ประสบการณ์ชีวิตยังน้อย จึงมักขาดการกลั่นกรองและตกเป็นเหยื่อได้ง่าย ในเรื่องนี้บทบาทพรรคการเมืองควรมีจุดยืนอย่างไร
ฟังเสียงคนทำงาน ออกแบบจากความต้องการแท้จริง
“ชูวิทย์” ระบุว่า หากมองเชิงนโยบาย พรรคการเมืองควรหันมาฟังเสียงของคนที่ทำงานด้านนี้ หรือเสียงของเด็ก ๆ เพื่อสำรวจความต้องการ การลงทุนเชิงนโยบายกับเด็กและเยาวชนคุ้มค่ามาก ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนไม่ไปก่อเหตุความผิดซ้ำ เพราะเมื่อสามารถออกแบบนโยบายที่ “เซต” ระบบความคิดของเด็กจากความต้องการที่แท้จริง เด็กจะไม่กลายเป็นอาชญากร
“ตนไม่อยากให้สถาบันพรรคการเมือง มุ่งเน้นออกนโยบายในลักษณะประชานิยมมากเกินไป ไม่ใช่แค่การเติมเงินไปใส่ในจุดใดจุดหนึ่ง การออกแบบนโยบายเช่นนี้มันไม่รอบด้าน ไม่ยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว หากสามารถออกแบบนโยบายเพื่อเด็กและเยาวชนได้ มองว่ามีสาระสำคัญ คือ 1.ต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มของเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณหรือรูปแบบการรวมกลุ่ม ซึ่งต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง หากเด็กต้องการรวมกลุ่มเพื่อเป็นทีมฟุตบอล ก็ควรมีกองทุนหรืองบประมาณ หรือช่องทางเพื่อสานฝันให้กับเด็ก หรือจัดสรรพื้นที่เพื่อให้มีการฝึกซ้อม
2.ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสามารถบอกเล่าปัญหาที่ประสบพบเจอในชีวิตและได้รับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะในสถานศึกษา หากเด็กถูกคุณครู หรือเพื่อนร่วมสถาบันก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกกลั่นแกล้ง ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถสื่อสารถึงปัญหา โดยไม่ต้องกลัวถูกคุกคาม ดังนั้น ต้องเร่งสร้างให้เกิดพื้นที่ของความไว้วางใจ รวมถึงนอกสถานศึกษาควรมีหน่วยงานรูปแบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน
3.พื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้แสดงออก ปลดปล่อยจินตนาการ ได้แสดงความคิดต่าง โดยผู้ใหญ่ทำหน้าที่แค่อำนวยความสะดวก หากสามารถทำได้ครบถ้วน
“ตนเชื่อว่าประเทศไทยจะพลิกสถานการณ์ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ไปในทิศทางที่ดีขึ้น และลดอัตราการเกิดเหตุภัยร้ายที่จะตามมาได้”
ปัดตกฟอก “สีเทา” ถูกกฎหมาย
ปัจจุบันนี้ ในทางการเมืองเริ่มมีการพูดถึงการนำเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย กาสิโน พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ขยายเวลาขายเหล้าเบียร์ ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีศักยภาพปราบปราม หรือจัดการแล้วไป “ยอมแพ้” หรือสยบยอม หรือรับเงินใต้โต๊ะแล้วจะมาทำให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้น เป็นการอับจนปัญญาอย่างสิ้นเชิง การคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่ได้และสิ่งที่เสียไป ผลกระทบที่ตามมาใครได้รับโดยตรง โดยเฉพาะประชาชน เช่น การปลดล็อกกัญชา หรือกัญชาเสรี ปัจจุบันยังเป็นสุญญากาศ
ส่วนกาสิโน พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย หากมองโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมอย่างวงการตำรวจ หรือระบบอุปถัมภ์ในโครงข่ายต่าง ๆ ที่ถูกเสนอตามข่าว ชัดเจนว่าโครงสร้างพวกนี้แนบแน่นเอื้อประโยชน์ลามไปแทบทุกหน่วยงาน ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการทำให้ถูกกฎหมายแล้วปัญหาการพนันเถื่อนจะลดลง ที่จะทำให้ถูกกฎหมายเป็นเพียงของเล่นชิ้นใหม่ และผลประโยชน์เพิ่มเข้าไปในระบบอุปถัมภ์เท่านั้น ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่กำลังจะออกนโยบาย ลองฟังเสียงคนที่รับผิดชอบดูแลปลายน้ำ ไม่ใช่คิดเพียงแต่จะเก็บภาษีจากสิ่งเหล่านี้
“หากไม่เร่งแก้ไข อุดช่องโหว่ หรือยังปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง จะเสมือนระเบิดเวลานับถอยหลังปะทุออกมา และสร้างความเสียหายมหาศาลกับอนาคตชาติ จนไม่สามารถเยียวยาได้ และระบบสังคมจะล่มสลาย เพราะมีคนจำนวนมากอาจเข้าสู่สภาวะถูกดำเนินคดี จับกุมคุมขัง อีกมิติคือ อัตราความเจ็บป่วยของผู้คนจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการหลุดออกจากระบบการศึกษา”
“ชูวิทย์” ย้ำว่า อย่ามองเพียงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแล้วปล่อยสังคมอ่อนแอ ขอให้หันกลับมาช่วยกันเร่งแก้ปัญหาที่ยังมีอยู่ ไม่มักง่ายทิ้งปัญหาสะสมไว้ เพื่อกระโดดไปสร้างแต่เม็ดเงิน แต่ผู้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“ปิดเทอม” พื้นที่กิจกรรม แสดงออกช่วยพัฒนาการ ผลักเสี่ยงอบายมุข
แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมของเด็ก แต่ผู้ปกครองยังคงทำงาน “โจทย์ยาก” คือ เด็กที่อยู่บ้านอยู่กันอย่างไร หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมพื้นที่ หรือกิจกรรมใดบ้างหรือไม่ อย่างต่างประเทศจะมีการจัดทำ “คูปอง” เพื่อให้สามารถนำคูปองไปเรียนรู้กิจกรรมอื่นเพิ่มเติม รัฐยอมจ่ายตรงนี้เพราะถือเป็นการซื้อเวลาของเด็ก เพื่อให้มีพัฒนาการด้านอื่นมากกว่าปล่อยให้เด็กใช้เวลาที่มากมายมหาศาล สุ่มเสี่ยงเข้าใกล้อบายมุข
การแก้ปัญหาลักษณะนี้ “ชูวิทย์” มองว่า ยังไม่เห็นเกิดขึ้นในไทย เจ้าหน้าที่เคยมีโอกาสเข้าไปถามเด็กในสถานพินิจฯ หรือไม่ว่า เพราะสาเหตุอะไรที่ทำให้เข้าไปอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องนำประเด็นเหล่านี้ไปใช้ออกแบบนโยบาย ป้องกันเด็กคน
ถัดไป ที่ผ่านมามักออกแบบนโยบายจากมุมมองผู้ใหญ่ลงมาที่เด็ก และยังใช้ในลักษณะครอบ กำหนด หรือห้าม ซึ่งไม่สอดรับกับความเป็นไปของเด็กและเยาวชน พอไม่สอดรับปัญหาจึงยังคงขยายต่อเนื่อง
“ปัญหาพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ถูกใช้ เช่น สนามฟุตบอล บางที่ถูกใช้เป็นลานจอดรถ พื้นที่สาธารณะถูกลิดรอนโดยผู้ใหญ่บางกลุ่ม ลานวัด ลานโรงเรียน กลายสภาพเป็นที่จอดรถ เด็ก ๆ ไม่ได้มีปัจจัยเงินทุนที่จะสามารถไปเช่าสนาม แต่หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาสนับสนุน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพวกเขา สร้างกติการ่วมกัน จะเป็นอีกกลไกพัฒนาเด็กให้มีความรับผิดชอบและมีทักษะการบริหารจัดการ เช่น รูปแบบการบริหารของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกของป้ามล ทิชา ณ นคร”
“ชูวิทย์” เชื่อว่าในอนาคต ยังจะเจอศึกหนักขึ้นเรื่อย ๆ และหากยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปแก้ไข ไม่มีการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกถึงความรู้สึก หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเขา การแก้ปัญหาก็จะแก้ไม่ถูกจุดสักที.