ซึ่งแต่ละพรรคทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ ต่างเร่งในการสรรหาผู้สมัครที่มีชื่อชั้นมาลงสมัคร เพื่อให้ประชาชนได้ทำการคัดเลือก ในขณะที่หลายพรรคยังหาผู้สมัครได้ไม่ครบ ส่วนพรรคที่ได้ผู้สมัครแล้ว ก็เดินหน้าในการหาเสียงอย่างเต็มที่ ตั้งแต่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศ “ยุบสภา” และ กกต. ก็ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง
ในวันนี้จะนำไปเจาะสนามเลือกตั้ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็น “สัญลักษณ์” ของดินแดน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่พรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง “พรรคเก่าแก่” และพรรคที่เพิ่งตั้งขึ้น ที่เรียกว่า “พรรคเฉพาะกิจ” ต่างส่งผู้สมัคร โดย “หมายมั่นปั้นมือ” ที่จะได้ “ส.ส. ใน จ.ปัตตานี เพื่อแย่งชิง” ส.ส. จำนวน 5 คน อย่างเต็มที่ และพรรคที่มีความพร้อมที่สุด ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคแรก ๆ ที่มีการประกาศชื่อผู้สมัครก่อนพรรคอื่น ๆ และผู้สมัครของพรรค ก็เดินหาเสียง ด้วยการพบปะประชาชนในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนปี 2566 ด้วยซ้ำ และ “ประชาธิปัตย์” ก็เป็นพรรคแรก ๆ ที่ทำการเปิด “ปราศรัย” ในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนมารับฟังการปราศรัยจาก “ขุนพล” ของพรรคอย่างเนืองแน่น
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2562 “ประชาธิปัตย์” ซึ่งไม่มีการเตรียมพร้อม รวมทั้งผู้สมัคร “ทิ้งพื้นที่” เนื่องจากการยึดอำนาจของ “คสช.” และรวมทั้งถูก “พรรค” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่มีฐานคะแนนเดียวกัน แย่งชิงคะแนนเสียงไปบางส่วน ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องเสียที่นั่งให้กับพรรค “ประชาชาติ” 2 ที่นั่ง และ “พรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง” ทำให้ “ประชาธิปัตย์” ได้ ส.ส. จ.ปัตตานี เพียงเขตเดียวคือ เขตเลือกตั้งที่ 1 และ ส.ส. ของ “ประชาธิปัตย์” ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนไม่ถึง 20,000 คะแนน คือ “อันวาร์ สาและ” ซึ่งในการเลือกตั้งในปี 2566 “อันวาร์ สาและ” ก็ได้ “ซาโยนาระ” จาก “ประชาธิปัตย์” ไปซบอกของ “ลุงป้อม” เป็นลูกพรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครในเขต 1 เพื่อต่อกรกับผู้สมัครของ “ประชาธิปัตย์” ที่เป็นบ้านเก่า ซึ่งเป็นที่เกิดทางการเมืองของตนเอง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” เลือกผู้สมัครหน้าใหม่ ส่งให้ประชาชนในพื้นที่ได้เลือกให้เป็น ส.ส. ทั้ง 5 เขต โดย เขตเลือกตั้งที่ 1 ส่ง สนิท อาแว อดีตกำนัน ต.ราตาปันนัง อ.เมือง “สนิท อาแว” เคยลงสมัคร ส.ส.ในเขตนี้ ในนามพรรคการเมืองอื่น แต่สอบไม่ผ่าน ครั้งนี้มาสวมเสื้อ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนจัดตั้งจากสมาชิกพรรค เมื่อบวกกับคะแนนส่วนตัว ทำให้ถูกจับตามองว่า “สนิท” เป็น “ตัวเต็ง” ของผู้สมัครในเขต 1 และหากมีการ “บริหาร” และการจัดการที่ดี ทั้งจากพรรคและจากผู้สมัคร มีโอกาสที่ “ประชาธิปัตย์” จะปักธง ได้ “ส.ส.” ในเขตนี้
เขตเลือกตั้งที่ 2 “ประชาธิปัตย์” ส่ง “มนตรี ดอเลาะ” อดีตนายก อบต.มะกรูด และอดีตนายกเทศบาล ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ส่วนในเขตที่ 3 “ประชาธิปัตย์” ส่ง “ดร.ยูในดี วาบา” ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นลูกชายของ “นิมุกตาร์ วาบา” ซึ่งเป็นผู้กว้างขวาง และมีประชาชนนับหน้าถือตาคนหนึ่งในพื้นที่ และเป็นอีกหนึ่งเขตที่เป็นความหวังของประชาธิปัตย์ ในเขตเลือกตั้งครั้งนี้ เขต 4 “ประชาธิปัตย์” ส่ง “สุริยา กูทา” อดีตกำนัน ต.กระโด และเขต 5 “ประชาธิปัตย์” ส่ง “คอเล็บ เจ๊ะนา” ซึ่งเป็น “ลูกชาย” ของ “สมมาตร เจ๊ะนา” อดีต ส.ส.ของ จ.ปัตตานี ลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ในสนามการเลือกตั้งที่ จ.ปัตตานี “ประชาธิปัตย์” ต้อง “แข่งขัน” กับ ส.ส. ของพรรคประชาชาติ ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ที่ “สมมุติ เบญจลักษณ์” เป็น ส.ส. และยังมีประชาชนให้การสนับสนุน เพราะมีบทบาททั้งในพื้นที่และในสภาผู้แทนฯ เขตเลือกตั้งที่ 3 ต้องสู้กับ “อนุมัติ ซูสารอ” ที่ลาออกจากพรรคประชาชาติ ไป “สวมเสื้อ” พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “ลุงตู่” และต้องสู้กับ “อับดุลบาซิม อาบู” ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ยังเชื่อมั่นว่า “อับดุล บาซิม” จะได้รับการเลือกจากประชาชนในพื้นที่ กลับมาได้อีกครั้ง โดยมี “สิรภพ ดวงสอดศรี” ที่เป็นสายตรงของ “เนวิน ชิดชอบ” รับผิดชอบพื้นที่ จ.ปัตตานี ของ “ภูมิใจไทย”
สำหรับพรรคประชาชาติ ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มี ส.ส. 2 เขต คือเขต 3 “อนุมัติ ซูสารอ” และเขต 4 “สมมุติ เบญจลักษณ์” และเกือบได้ ส.ส. ในเขต 2 ที่ผู้สมัครคือ “อารีฟีน จะปากียา” ที่พ่ายแพ้ให้กับ “อับดุลบาซิม อาบู” จากพรรคภูมิใจไทย เพียง 400 คะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่า “ประชาชาติ” จะยังไม่มีการ “เปิดตัว” ผู้สมัครครบทุกเขต แต่ก็มีการสรรหาผู้สมัครไว้แล้ว เพียงรอวันเวลาในการเปิดตัวเท่านั้น สำหรับ “ประชาชาติ” แม้จะเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ที่อาจจะไม่สามารถดึงงบประมาณลงในเขตเลือกตั้งของ ส.ส. แต่ ส.ส. ของ “ประชาชาติ” มีการเกาะติดพื้นที่ ดูแลประชาชน และมีบทบาทในสภาผู้แทน รวมทั้ง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรค และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค มีการลงพื้นที่พบปะประชาชน ผู้นำศาสนา ทั้งพุทธ และมุสลิม และดำเนินแนวทางส่งเสริมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นลักษณะของพรรคการเมืองท้องถิ่น และชาตินิยม ที่มีโอกาสในการได้ “ที่นั่ง” ใน จ.ปัตตานี ไม่ต่ำกว่า 2 เขตเลือกตั้ง
แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปได้สูง การเลือกตั้งของ จ.ปัตตานี จะได้ ส.ส.เขตแบบ “กระจัดกระจาย” คือ พรรคการเมืองใหญ่ ๆ จะมีการแบ่งปัน ส.ส. ได้ไปแบบคนละเขตสองเขต ในจำนวน 3-4 พรรคการเมือง ส่วน “พรรคเฉพาะกิจ” อย่าง “รวมไทยสร้างชาติ” ที่มุ่งจะ “ขายลุงตู่” และนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” อาจจะต้องเหนื่อยจากกระแส “ไม่เอาทหาร” และการดอง พ.ร.บ. “อุ้มหาย” ที่กลายเป็นปมในหัวใจของคน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” จะทำให้ผู้สมัครของ “รวมไทยสร้างชาติ” ต้อง “เข็นครกขึ้นเขา” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมี “ค่ายทหาร” และมีกำลังพลมากกว่า 50,000 นาย แต่การ “เข้าคูหา” เพื่อกาบัตรเลือกตั้ง อาจจะไม่สามารถสั่งให้ “ซ้ายหัน ขวาหัน” ได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้มีคำสั่งที่เป็น “นโยบาย” ที่ชัดเจนต่อกำลังพล ในการวางตัวเป็นกลาง และไม่ “ฝักใฝ่” กับการเมือง.
ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล