Photo medium shot man holding laptop

สังคมไทย เวลานี้ อยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะบรรดามิจฉาชีพ ต่างใช้ทุกช่องทาง ทุกรูปแบบ หลอกลวง ฉ้อโกง เพื่อดูดเงินออกจากบัญชี ใคร? ไม่รู้ ใคร? ยังโลภ ใคร? ตามไม่ทัน สุดท้าย!! หนีไม่พ้น ตกเป็นเหยื่อ

ต่อให้เป็นคนรวย เป็นคนมีความรู้ เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม ก็ไม่รอด!!

ยิ่งโลกยุคนี้ กลายเป็นโลกออนไลน์ เป็นยุคสังคมไร้เงินสด ที่ซึ่งหน้าจับต้องไม่ได้ ความเสี่ยงกับการใช้ชีวิตก็มีมากขึ้น แม้มีกฎหมายสารพัดออกมาป้องกัน ออกมาล้อมคอก แต่ก็ยังมีสารพัดช่องโหว่ ที่ทำให้ตกเป็น “เหยื่อ” แบบไม่รู้ตัว

ล่าสุด รัฐบาลก็ออกมาตีฆ้องร้องป่าว ให้ระแวดระวัง เรื่องของการใช้ “คิวอาร์โค้ด” ที่คนไทยทั้งประเทศต่างรู้จักและใช้เป็นช่องทางในการจ่ายเงินในการซื้อของ ซื้ออาหาร จ่ายค่าแท็กซี่ และอีกมากมายสารพัด

Free photo hands holding phone close up

ด้วยเพราะ!! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้หลอกล่อ หลอกคนทำมาหากิน ให้สแกนคิวอาร์โค้ด ทางแอปพลิเคชัน เพื่อจ่ายเงินค่าสินค้าให้ สุดท้ายก็ถูกดูดเงิน

แม้ว่า “เหยื่อ” จะรู้ตัวไหวตัว แก้ปัญหาด้วยการโอนเงินออกไปบัญชีอื่น เพื่อไม่ให้ “หมดตัว” ก็ตาม แต่ถ้าปัญหานี้…เกิดกับคนที่ตามไม่ทัน แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ วันที่ 5-11 มี.ค. 66 พบว่า มีผู้แจ้งความเข้ามาทั้งหมด 5,787 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม กว่า 377.28 ล้านบาท ในจำนวนนี้ปรากฏว่า คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า ยังครองแชมป์

Free photo beautiful smart asian young entrepreneur business woman owner of sme online checking product on stock and save to computer working at home.

รองลงมา คือ คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม ตามมาด้วย คดีคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน และ คดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน

ภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ คือ คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และได้โทรศัพท์หาผู้เสียหายให้ตรวจสอบสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเว็บไซต์กระทรวงการคลัง

จากนั้น…ได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในไลน์แล้วส่งลิงก์ปลอมกระทรวงการคลังให้ผู้เสียหายกดเข้าไป กรอกข้อมูลชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวในระบบ และใส่รหัสยืนยันตัวตน เลข 6 หลัก ต่อมาผู้เสียหายกรอกเลข OTP 6 หลักให้คนร้ายเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายถูกควบคุมโทรศัพท์และถูกดูดเงินออกไป

จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ที่หยิบยกมาเสนอ เป็นเพียงแค่ในรอบ 1 สัปดาห์ หรือเพียงแค่ 7 วัน เท่านั้น ยังเสียหายไปแล้วเกือบ 400 ล้านบาท นั่น!! หมายความว่า… ความรุนแรงของปัญหายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

แน่ล่ะที่ปฏิเสธไม่ได้ ที่มาของปัญหา ก็มาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ต้องยอมรับว่ายังอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง มีรายได้ไม่พอรายจ่าย จึงตามมาด้วยแก๊งมิจฉาชีพ

เมื่อโลกพัฒนา กระบวนการหลอกลวงก็เปลี่ยนแปลงไป โดยหยิบฉวยเอาความพัฒนามาเป็นช่องทางหลอกลวง แล้วพัฒนาไปเรื่อย ๆ ใครตามไม่ทัน ก็หมดตัว

ขณะที่ กรณีของการใช้คิวอาร์โค้ด มาหลอกลวงผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้า ในทุกวันนี้ ก็ต้องระแวดระวังด้วยตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเราไม่รู้จักไม่ป้องกันตัวเอง กว่าจะถึงมือเจ้าหน้าที่ ก็เสียหายไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

ดังนั้น คาถา อัตตาหิ อัตตโน นาโถ จึงเป็นหนทางที่ป้องกันตัวเองได้แน่นอน!!

Free photo close up man talking on phone

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ได้ออกคำแนะนำไว้ 3 ข้อ

เริ่มตั้งแต่…การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ คิวอาร์โค้ด นั้น ๆ โดยก่อนกดสแกน ก็ต้องตรวจสอบหรือ Preview ตัวลิงก์หรือ URL ถ้าลิงก์ที่ขึ้นมาแปลก ๆ หรือไม่ตรงกับชื่อเว็บไซต์ที่ใช้บริการอยู่ก็ไม่ควรกดสแกนใด ๆ

นอกจากนี้ ควรใช้โปรแกรมในการสแกน ที่สามารถระบุได้ว่า ลิงก์ที่สแกนจากคิวอาร์โค้ด เป็นลิงก์ที่ปลอมหรือหลอกลวง ซึ่งสามารถหาใช้งานได้จากโปรแกรมแอนตี้ไวรัส ที่มีคุณสมบัติการตรวจสอบ

สุดท้าย!! เมื่อกดสแกนคิวอาร์โค้ดไปแล้ว ก่อนจะโอนเงินหรือทำธุรกรรม ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบัญชีของผู้ขายจริง ๆ โดยสอบถามยืนยันกับผู้ขายว่าชื่อบัญชีนี้ถูกต้องหรือไม่ ก่อนโอนเงินชำระค่าสินค้าไป

อย่าลืม!! พวกแก๊งมิจฉาชีพ ยอดเก่ง!! เพราะสามารถสร้างคิวอาร์โค้ด ปลอมบัญชีอื่นซึ่งไม่ใช่บัญชีของร้านค้าเอามาหลอกได้ ทั้งหมด… หากเราไม่กดยินยอมซะอย่าง ความเสียหายก็ไม่เกิดขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวง… โปรดจำไว้ สติมา…ปัญญาเกิด… ก็ไม่เสียสตางค์

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”