สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายได้จัด”เวทีประชุมเรื่อง สุขภาวะของคนข้ามเพศ “ข้ามเพศมีสุข” ครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน โดยโครงการ “ส่งเสริมสุขภาวะ และลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศในประเทศไทย” (Transgender Health Access Thailand : T-HAT)

กฤติมา สมิทธิ์พล มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) สะท้อนมุมมองจากการศึกษาการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของกลุ่มคนข้ามเพศ พบว่า จากข้อจำกัดในการถึงบริการสุขภาพ เป็นที่มาของการเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน หรือ คลินิกแทนเจอรีน ในปี 2558 คลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศแบบครบวงจร เพื่อให้มีบริการรองรับ และมองว่าหากจะทำให้ยั่งยืนที่แท้จริง สิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพควรชัดเจน เป็นทางการ และเป็นนโยบายส่วนกลาง ที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันและยื่นเสนอการบริการสุขภาพด้านการข้ามเพศให้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขณะนี้ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ อยู่ระหว่างการทำวิจัย เพื่อดูว่าจะนำมาเป็นนโยบายได้อย่างไร โดยทำงานร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อทำข้อมูลในแง่ของการคุ้มทุน การเข้ารับบริการ และการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ครอบคลุมทุกสิทธิและทุกคน การใช้เทเลเมดิซีนในพื้นที่ห่างไกล และอบรมบุคลากรให้มีความรู้ทางวิชาการ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบโจทย์วิจัยในการยื่นกับ สปสช.ต่อไป ขณะที่ สปสช. ซึ่งทำหน้าที่จัดบริการร่วมกับหน่วยบริการให้กับประชาชน แทนประชาชน โดยการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟู

ชนาทิพย์ มารมย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สปสช. กล่าวว่า สปสช. ทำงานภายใต้กฎหมาย และมีมาตราหนึ่ง คือ สามารถให้องค์กรภาคประชาชนเป็นหน่วยรับส่งต่อ ภาคประชาชนสามารถจัดบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ บริหารงานโดยคนพิการที่ได้รับการอบรมฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ (IL Instructor) หรือเครือข่ายเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่พัฒนาให้เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ ในการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อ

“สำหรับการยื่นเสนอหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับบุคคลข้ามเพศให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีข้อมูลและทำงานร่วมกับนักวิชาการ และสถาบันการศึกษา อยากชวนทุกคนตั้งความหวัง ผลักดันไปด้วยกันเพื่อให้ความฝันเป็นจริง ระบบราชการหลายอย่างเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และทำอย่างไรให้บริการเข้าถึงชุมชน เช่น ร้านยาชุมชน รับยาร้านยา ดังนั้น กฎหายเปิดแล้ว และมีแนวทาง สปสช. ยินดีทำงานร่วมกับกับเครือข่ายภาคประชาชนในแง่ของพันธมิตร โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ได้เข้าถึงระบบสิทธิประโยชน์” ชนาทิพย์ กล่าว

นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ผ่านมางานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของไทย เน้นประเด็นตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การที่คนรุ่นใหม่มีบุตรน้อยลง ก็เริ่มทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่สุขภาพอย่างเดียวแต่เป็นสิทธิที่เราเลือกได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับบุคคลข้ามเพศ ระหว่างที่รอผลการศึกษา สามารถขับเคลื่อนได้ โดยการมีส่วนร่วมในบริการของภาคเอกชน ยกตัวอย่าง คลินิกผู้มีบุตรยาก ที่พบว่าปัจจุบันก็มี รพ.เอกชนหลายแห่งที่เข้ามาเปิดบริการตรงนี้ควบคู่กัน มองว่า เครือข่ายขับเคลื่อนน่าจะมาถูกทาง ซึ่งหากมีอะไรให้กรมอนามัยช่วยขับเคลื่อนก็มีความยินดี

สำหรับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน มีศูนย์บริการสาธารณสุข กระจาย 50 เขต 69 แห่ง ได้มีการจัดตั้ง คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร หรือ BKK Pride Clinic ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขทั้งหมด 16 แห่ง และ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร

พญ.ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า BKK Pride Clinic มีบริการทั้งปรึกษาสุขภาพจิต ปรึกษาเรื่องฮอร์โมน ตรวจ HIV/TB/STI , การให้ยาต้าน HIV , ปรึกษาด้านศัลยกรรม และ ปรึกษาสุขภาพทั่วไป อีกทั้ง ยังมีเพิ่มเติมเรื่องยาเสพติด เนื่องจากมีเครือข่ายหลายคน พบว่า มีการใช้สารเคมีบางอย่างก่อนมีเพศสัมพันธ์ บางครั้งทำให้บางคนติดสารเคมีเหล่านั้น จึงต้องมีการกระจายความรู้เรื่องยาเสพติด การบริการ การตรวจ บำบัด รักษา ในคลินิกด้วย โดยพบว่ามีคนไข้ ให้ความสนใจ เข้ามารับการรักษามากขึ้น ทั้งนี้ การผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับบุคคลข้ามเพศให้เกิดขึ้นจริง ต้องเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบ จัดบริการสุขภาพเพื่อให้เอื้อสะดวกต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และที่สำคัญ คือ เปลี่ยนทัศนคติของผู้ให้บริการว่าต้องให้เกียรติและไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา เพราะทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการต่างๆ ได้เท่าเทียมกัน

วรรณพงษ์ ยอดเมือง Asia Pacific Transgender Network ซึ่งทำงานกับองค์กรที่นำโดย คนข้ามเพศ ( Transgender )ในกว่า 26 ประเทศทั่วภูมิภาค ทำงานครอบคลุมทั้งเรื่องของบริการสุขภาพ บริการเข้าถึงได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก ไม่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติ และมีคุณภาพ โดยมีการวิจัย อบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศ และสุดท้าย คือ การผลักดันเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้มีแรงกระเพื่อม แม้บริการของไทยสามารถเป็นตัวอย่างในหลายประเทศได้ แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เพราะบริการส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมืองใหญ่ๆ และยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง การผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับบุคคลข้ามเพศ ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบาย และทางเรายินดีที่จะอุดรอยรั่วของข้อมูลที่จะเกิดขึ้น โดยมีงานวิจัยบริการในแต่ละประเทศ และเทคนิคการทำวิจัยในระดับประเทศที่จะเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปเพื่อผลักดันเชิงนโยบาย เรายินดีที่จะให้เทคนิคในการดูข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้บริการพื้นฐานของคนข้ามเพศเป็นจริงได้

นับเป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์ ปัญหา และกำหนดทิศทางการให้บริการด้านสุขภาพ สิทธิประโยชน์พื้นฐาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดความสี่ยงปัญหาสุขภาพของประชากรทุกกลุ่ม