“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้ชวนพูดคุย “เทรนด์” เทคโนโลยีที่อาจพ่วงมาด้วยแนวโน้มปัญหา เมื่อโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่ความรู้ แต่ยังมีสิ่ง “ไม่ควรรู้” เปรียบเหมือน “ดาบสองคม” สำหรับเด็กและเยาวชนด้วย
หลาก “อบายมุข” ทั้งพนันออนไลน์ สื่อลามกอนาจาร แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การรับจ้างเปิดบัญชีม้า ไปจนถึงยาเสพติด ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ นโยบายใดที่ควรคิดเพิ่ม-ทำใหม่ให้เท่าทันเทรนด์ปัญหาเด็กและเยาวชน “ชูวิทย์ จันทรส” เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในฐานะคลุกคลีปัญหาเด็ก ร่วมสะท้อนสถานการณ์พร้อมเสนอกลไกลดโอกาสก้าวพลาด ตกเหวลึก…
กระแสภัยไซเบอร์ หลุมลวงสู่ “ธุรกิจสีเทา”
“ชูวิทย์” สะท้อนถึงสถานการณ์อบายมุข สิ่งล่อใจที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดียในปัจจุบันว่า ห้วงเวลาที่ผ่านมีแนวโน้มส่งผลต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวมากขึ้น ต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่มีการกลั่นกรองที่ดีกว่าแต่ส่วนใหญ่ก็ยังตกเป็นเหยื่อ ขณะที่เด็กและเยาวชนมีประสบการณ์ยังค่อนข้างน้อย เมื่อถูกชักจูงจึงมักขาดการกลั่นกรอง ถลำสู่การล่อลวงจนตกเป็นเหยื่อ
ยกตัวอย่าง กรณีหนึ่งพบมีเด็กเเละเยาวชนถูกล่อลวงไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ ซึ่งอันที่จริงเด็กต้องการไปประกอบอาชีพสุจริต แต่จะมีกลุ่มคนร้ายที่เข้ามาทำหน้าที่เหมือน “แมวมอง” เข้ามาชักจูง พร้อมเสนอเงื่อนไขการทำงาน โดยล่อลวงด้วยคำพูดสวยหรูว่า ทำงานสบายได้เงินง่าย เมื่อเด็กหลงกลก็ถูกนำตัวไปต่างประเทศ ท้ายสุดก็ต้องหาทางหลบหนีเสี่ยงตายกลับประเทศ
“จากที่ต้องการไปทำมาหากินสุจริต กลับต้องไปเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการสีเทา ทั้งเว็บพนันออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ และกรณีที่แย่สำหรับเด็กผู้หญิงที่ไปคือการถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วย”
โลกพนันออนไลน์ของเด็ก–เยาวชน
ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเกมพนันออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลายรายมีโอกาสเข้าไปพัวพัน และหลายครอบครัวต้องส่งลูกหลานเข้ารับการบำบัด แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะการบำบัดการเสพติดพนันค่อนข้างยากกว่าการบำบัดยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในสัดส่วนของเด็กที่เข้าไปสู่การบำบัดเรื่องติดพนัน
“ชูวิทย์” ระบุ ข้อมูลจากสถานบำบัดแห่งหนึ่งชี้ว่า การบำบัด “เด็กผู้หญิง” รักษาค่อนข้างได้ยากกว่า “เด็กผู้ชาย” เฉพาะข้อมูลจาก ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จากการสำรวจช่วงต้นปี 2566 พบว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ ร้อยละ 42.1 หรือ ประมาณ 3.9 ล้านคน เล่นการพนัน
ในจำนวนนี้มีคนที่เล่นพนันออนไลน์ ประมาณ 3 ล้านคน 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 33.5 ของคนรุ่นใหม่ที่เล่นพนันออนไลน์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ผลกระทบที่พบมากสุดคือ ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปัญหาความเครียด/เสียสุขภาพจิต เสียเวลาทำงาน/การเรียน สุขภาพเสื่อมโทรม
“ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 2.7 หรือ กว่า 8 หมื่นคน มีหนี้พนัน นี่จึงเป็นสิ่งที่ตนเล็งเห็นว่าปัญหากำลังขยับขยายใหญ่โตมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเองไม่สามารถตั้งรับได้ทัน”
สำหรับข้อมูลตัวเลขภาพรวมเท่าที่มีในขณะนี้ คือ ข้อมูลเมื่อปี 2563 ปรากฏรายละเอียด เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 12 บุหรี่ประมาณร้อยละ 4-5 สารเสพติดประมาณร้อยละ 4-5
การพนัน ร้อยละ 5 การทะเลาะวิวาทชกต่อยประมาณร้อยละ 8
ในขณะที่ปัญหาเรื่องภาวะ “ซึมเศร้า” มีตัวเลขพุ่งทะยานไปเกือบร้อยละ 20 และยังมีการวางแผน “ฆ่าตัวตาย” อีกประมาณร้อยละ 10%
จากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่าเด็กและเยาวชนประมาณ 1 ใน 10 เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ หรืออาจเข้าไปมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้สรุปเบื้องต้นได้ว่าในบรรดาเด็กและเยาวชน จำนวน 100 คน จะมี 10 คนที่ได้รับความเสี่ยงแน่ ๆ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แต่จะโทษเด็กหรือตีตราเด็กอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นจากผู้ใหญ่บางกลุ่มที่เข้าไปฉกฉวย
หาประโยชน์ในเรื่องนี้แล้วทำให้เด็กต้องกลายเป็นเหยื่อ
กระทั่งท้ายสุดกลายมาเป็นปัญหาสังคม เด็กที่ตกเป็นเหยื่อต้องเข้าไปสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปีละ 3-4 หมื่นคน แต่เราก็ยังไม่เห็นใครพูดถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
ชี้ปัญหาให้เห็นแล้ว พรุ่งนี้มาตามต่อถึงข้อเสนอ “เข็มทิศ” นโยบาย.